วันพุธที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ไว้อาลัย

ไว้อาลัย “เซ็นทรัลเวิลด์”
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 19 พฤษภาคม 2553 23:37 น.
เหตุจลาจลระบาดทั่วกรุงในวันนี้ (19 พ.ค.53) เป็นอีกวันหนึ่งที่ประชาชนไทยจะต้องระลึกและจดจำไปอีกแสนนานด้วยความเจ็บปวด ที่เห็นประเทศชาติวินาศเพราะคนเพียงกลุ่มเดียว ที่ดาหน้ากันออกมาเผาบ้าน เผาเมือง อย่างไร้ขื่อแป

หนึ่งในสถานที่หลายๆจุดที่โดนเผานั้น มีห้างสรรพสินค้าชื่อดังอย่าง “เซ็นทรัลเวิลด์” รวมอยู่ด้วย ซึ่งขณะนี้คงต้องเรียกว่าปิดตำนานไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยความมอดไหม้อย่างสะเทือนใจ

“เซ็นทรัลเวิลด์” เดิมชื่อ “เวิลด์เทรด เซ็นเตอร์” เป็นโครงการศูนย์การค้า โรงแรม และอาคารสำนักงาน ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ถนนราชดำริ ตัดกับถนนพระราม 1 เป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของเอเชีย และมีพื้นที่ขายมากเป็นอันดับ3ของโลก

เดิมเป็นพื้นที่ของศูนย์การค้าเป็นที่ตั้งเดิมของวังเพชรบูรณ์ วังที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ต่อมาเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ สิ้นพระชนม์ นักธุรกิจญี่ปุ่นได้ขอซื้อที่ดินบริเวณวังเพื่อก่อสร้างห้างไทยไดมารู ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศูนย์การค้าราชประสงค์ จากนั้น บริษัท วังเพชรบูรณ์ โดยนายอุเทน เตชะไพบูลย์ ได้เช่าที่ดินนี้จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อก่อสร้างห้างสรรพสินค้า

"เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์" เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2525 และเปิดดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2532 ประกอบด้วยห้างสรรพสินค้าเซ็น (ZEN) และ อิเซตัน (Isetan) เมื่อบริษัท วังเพชรบูรณ์ ประสบปัญหาทางการเงิน ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโรงแรมและอาคารสำนักงานให้แล้วเสร็จ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงเปิดโอกาสให้บริษัทอื่นเข้ามาประมูล เป็นผู้บริหารศูนย์การค้า ซึ่งบริษัทที่เสนอตัวเข้ามาคือกลุ่มเซ็นทรัลและเดอะมอลล์

ปัจจุบันโครงการนี้บริหารงานโดย บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (CPN) โดยในระยะแรกเป็นการปรับปรุงและต่อเติมอาคารสำนักงาน ที่ทางเจ้าของพื้นที่เดิมได้สร้างไว้แต่ยังไม่แล้วเสร็จ

จากนั้นจึงเริ่มปรับปรุงในส่วนของศูนย์การค้าโดยเปลี่ยนชื่อเป็น “เซ็นทรัลเวิลด์พลาซ่า” (Central World Plaza) และสร้าง “เซ็นทรัล เวิลด์สกายวอล์ก” (CentralWorld Skywalk) ทางเชื่อมลอยฟ้าระหว่างสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีชิดลม และสถานีสยาม โดยความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับลูกค้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

ต่อมาในปี 2549 บริษัทได้มีการปรับปรุงทั้งบริเวณโดยรอบทั้งหมด และเปลี่ยนชื่อศูนย์การค้าเป็น “เซ็นทรัลเวิลด์” โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศูนย์การค้า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ด้วยความใหญ่ของเซ็นทรัลเวิลด์ที่มุ่งดึงดูดลูกค้ากว่า 150,000 คนต่อวัน จึงได้ออกแบบให้มีประตูเข้าออกช้อปปิ้งคอมเพล็กซ์ถึง 18 จุด เพิ่มความสะดวกในการเดินเข้าออกนอกจากนี้ยังจัดที่จอดรถถึง 7,000 คัน และถนน 6 เลน (CentralWorld Avenue) รอบช้อปปิ้งคอมเพล็กซ์ เพื่อพักและระบายรถยนต์ที่เข้าออกช้อปปิ้งคอมเพล็กซ์ได้ทางถนนเส้นหลัก 2 สาย คือถนนพระราม 1 และถนนราชดำริ

ช้อปปิ้งคอมเพล็กซ์ ที่นี่มีพื้นที่รวม 550,000 ตรม. ประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้าที่มีสาขาเดียวในไทย 2 ห้าง (เซน และ อิเซตัน) ร้านค้ากว่า 500 ร้าน ประกอบด้วยร้านแฟชั่นแบรนด์เนมที่เป็น แฟลกชิพสโตร์ 35 ร้าน ร้านแฟชั่นแบรนด์เนมที่เปิดใหม่เป็นครั้งแรกในประเทศไทย 36 ร้าน ร้านแฟลกชิพสโตร์ของร้านค้าปลีกเฉพาะประเภท 6 ร้าน ร้านอาหารกว่า 50 ร้าน โรงภาพยนตร์ 21 โรง และศูนย์โบว์ลิ่ง โซนกิจกรรมและศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็ก ลานกิจกรรมกลางแจ้ง

โรงแรมระดับ 5 ดาว พื้นที่ 90,000 ตรม. จำนวน 55 ชั้น – สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 2551 จำนวนห้อง 500 ห้อง ศูนย์ประชุม พื้นที่ 17,000 ตรม – สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปลายปี 2549 เป็นหนึ่งในศูนย์ประชุมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย ปลูกสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบไร้เสา อาคารสำนักงาน พื้นที่ 80,000 ตรม. / จำนวน 45 ชั้น – สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว เป็นหนึ่งในอาคารที่มีความทันสมัยที่สุดในประเทศไทย ลานจอดรถในร่มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พื้นที่ 287,000 ตรม. รองรับรถยนตร์ได้มากถึง 7,000 คัน

“เซ็นทรัลเวิลด์” แบ่งพื้นที่ภายในศูนย์การค้า แบ่งโซนจากเดิม 3 โซน เป็น 7 โซน และ 4 อาคารประกอบ ประกอบด้วย “เอ เทรี่ยม”( Atrium) เป็นโซนตกแต่งแบบหรูหรา สถาปัตยกรรมทรงโค้งเหมือนคลื่น “บีคอน”( Beacon) มีลานกว้างรูปเปลือกหอย Marquise เป็นเอกลักษณ์ของโซน

“เซ็นทรัลคอร์ท”( Central Court) เป็นจุดเชื่อมต่อของศูนย์การค้า ลักษณะเป็นลานวงกลมใหญ่ จุดเด่นคือ ลิฟต์แก้วแบบพาโนรามา 360 องศา 2 ตัว และ บันไดเลื่อนแบบวนรอบ

“แดสเซิล” (Dazzle) จุดเด่นคือเป็นที่ตั้งร้านค้าค้าปลีกชั้นนำในโซนเดียว รวมทั้งเป็นที่ตั้งของลิฟต์ทางเชื่อมสู่บางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อีกด้วย

“อีเดน” (Eden) จุดเด่นเป็นลานทรงสี่เหลี่ยมพื้นผ้า มีเพดานสูง โทนสีขาวสบายตา และติดตั้งโมบายพลาสติกใสที่จะมีแสงส่อง เสมือนว่าเปลี่ยนสีได้

“ฟอรัม”( Forum )จุดเด่นคือเป็นลานที่ออกแบบเพื่องานแฟชั่นโชว์ และมีเวทีไฮดอร์ลิดที่สามารถปรับระดับได้ มีร้านค้าประเภทเสื้อผ้าและแฟชั่น และมีแผงกั้นทางเดินที่เปลี่ยนสีได้

“เซ็นเตอร์พ้อยท์” ( Centerpiont )โซนใหม่ล่าสุดของศูนย์การค้า ตั้งอยู่ที่ชั้น 7-8 ในพื้นที่โรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ เดิมซึ่งประกอบไปด้วย Centerpoint Playhouse และ Cyberia DigitalPlayground โรงละครและศูนย์รวมของโลกดิจิตอลแห่งใหม่

“ดิออฟฟิศเซส แอทเซ็นทรัลเวิลด์”( The Offices at Centralworld) อาคารสำนักงานทันสมัย ลิฟท์ความเร็วสูง ระบบคีย์การ์ด

“โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์” (Centara Grand Hotel) โรงแรมหรูระดับ 5 ดาว พร้อมภัตตาคารลอยฟ้า และศูนย์แสดงสินค้าและห้องประชุม

“เซน เวิลด์”( Zen World) อาคารที่รวบรวมความบันเทิง อยู่ด้านบนห้างสรรพสินค้าเซน และยังมีร้านอาหารมุมมองพาโนรามา ฟิตเนส อีกมากมาย

“อิเซตัน”( Isetan) อาคารที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์เดิมเอาไว้ทั้งหมด ที่นำงานประติมากรรมมาเป็นองค์ประกอบในการตกแต่ง เพื่อเชื้อเชิญให้ผู้ที่เดินผ่านไปมาสนใจและมีปฏิสัมพันธ์กับตัวประติมากรรม นับเป็นบทบาทใหม่ของงานศิลปะที่สร้างความสุขสนุกสนานให้กับผู้คนทั่วไปใน ช้อปปิ้งคอมเพล็กซ์ นอกเหนือจากจรรโลงใจหรือเป็นเพียงสัญลักษณ์ของสถานที่อย่างที่เคยเป็นมา

ซึ่งแต่ละโซนได้รับการออกแบบให้มีรูปทรงบรรยากาศ และจุดดึงดูดสายตาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ช่วยสร้างบรรยากาศในการช้อปปิ้งที่หลากหลาย และช่วยให้ลูกค้าสามารถแยกความแตกต่างของโซนที่ตัวเองเดินอยู่ได้

นอกจากนี้แต่ละโซนยังได้ถูกออกแบบให้เชื่อมต่อถึงกันในลักษณะเปิด ช่วยให้ผู้ที่เดินอยู่ในโซนหนึ่งสามารถเห็นอีกโซนหนึ่ง เป็นการสร้างความต่อเนื่องในการเดินช้อปปิ้ง
นอกจาก”เซ็นทรัลเวิลด์”ที่ได้รับความเสียหายอย่าง ยากจะฟื้นฟูแล้ว ยังมีโรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ คือ โรงภาพยนตร์ในย่านสยามสแควร์ ที่ประกอบด้วย โรงภาพยนตร์สยาม โรงภาพยนตร์ลิโด้ และโรงภาพยนตร์สกาล่าที่ได้รับความเสียหายด้วยโรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ มีคุณพิสิฐ ตันสัจจา ซึ่งคุณพิสิฐได้รับการติดต่อจาก กอบชัย ซอโสตถิกุล เจ้าของบริษัท เซาท์ อีสเอเซีย ก่อสร้าง จำกัด โดยเป็นผู้ออกแบบ และก่อสร้างอาคารต่าง ๆ

โรงภาพยนตร์สยาม จำนวน800 ที่นั่ง เปิดฉายครั้งแรกเมื่อ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2509 กับภาพยนตร์เรื่องแรกที่ฉายคือ “รถถังประจัญบาน” แต่เดิมจะใช้ชื่อว่าโรงภาพยนตร์ "จุฬา" แต่ถูกคัดค้านเนื่องจาก เป็นชื่อของ พระมหากษัตริย์ และเป็นชื่อของมหาวิทยาลัย

ส่วนโรงภาพยนตร์ลิโด (1,000 ที่นั่ง) เปิดฉายเมื่อ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2511 กับภาพยนตร์เรื่อง ศึกเซบาสเตียน (GAMES FOR SAN SEBASTIAN) และโรงภาพยนตร์ สกาลา (1,000 ที่นั่ง) เปิดเมื่อ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2512 กับภาพยนตร์เรื่อง สองสิงห์ตะลุยศึก ติดตั้ง ระบบเสียง "DOLBY DIGITAL" SRD DTS SDDS รวมทั้ง SURROUND อีกทั้ง ติดตั้ง "OZONE" เพื่อให้อากาศสดชื่นบริสุทธิ์ นอกจากนี้ ใต้โรงภาพยนตร์ทั้ง 3 แห่ง ยังมีการให้เช่าพื้นที่ทำร้านค้าด้วย ณ วันนี้ โรงหนังสยามก็เหลือเพียงตำนานเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น