วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554

อธิฐานจิต

อธิษฐานจิตเสียก่อนทำบุญ

พฤษภาคม 27, 2011 โดย ธ. ธรรมรักษ์

การจะถวายของแก่พระภิกษุสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นการใส่บาตร การทำสังฆทาน หรือถวายอะไรก็ตามมักจะมีการอธิษฐานหรือที่เรียกว่าการ “จบของ” ซึ่งบางคนอาจจะจบนาน บางคนอาจจะจบช้าด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างในตอนนั้น

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ แห่งวัดสะแก จ.อยุธยา พระอริสงฆ์ที่ทุกคนกราบท่านได้ทั้งหัวใจ สมัยที่ท่านยังไม่ละสังขาร ท่านได้เมตตาสอนเรื่องว่าควรจะอธิษฐานอย่างไรที่ยังคงสืบทอดกันมาและยังมีปรากฏหลักฐานอยู่ในเว็บไซต์ของวัดถ้ำเมืองนะ (www.watthummuangna.com) ที่ขอแนะนำว่าเป็นเว็บไซต์ที่ดีมากเพื่อจะได้รู้จักหลวงปู่ดู่ รวมถึงแนวทางการปฏิบัติธรรมที่จะทำให้เจริญในธรรมได้ผลดียิ่งขึ้น หลวงปู่เมตตาสอนไว้ว่า

“ก่อนที่เราจะถวาย ให้จบมาเสียก่อนจากบ้าน เนื่องจากพอมาถึงวัด มักจะจบไม่ได้เรื่อง คนมากมายเดินไปเดินมา จะหาสมาธิมาจากไหน เราจะทำอะไรก็ตามอธิษฐานไว้เลย เวลาถวายจะได้ไม่ช้า เสียเวลาคนอื่นเขาอีกด้วย บางคนก็ขอไม่รู้จบให้ตัวเองไม่พอ ให้ลูกให้หลานจิตเลยส่ายหาบุญไม่ได้”

จากเมตตาของหลวงปู่ดังกล่าว ทุกคนก็จะได้รับทราบทางสว่างถึงการสร้างบุญแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยและอุทิศบุญได้แบบครบถ้วน เพราะในช่วงเวลาสำคัญที่กำลัง “จบของ” อยู่นั้นอาจจะถูกรบกวนจากปัจจัยภายนอกที่ยากจะควบคุมได้

ครูบาอาจารย์ท่านจึงเมตตาแนะนำว่าควรอธิษฐานเสียก่อนที่จะใส่บาตร ก่อนไปวัด ก่อนไปทำบุญเพื่อบุญจะได้ไม่ตกหล่นสามารถทำได้ทุกบุญที่เราทำ

การสร้างบุญกุศลนั้นขอให้ยึดหลักการสร้างบุญบารมีในบุญกิริยาวัตถุ 10 เป็นสำคัญที่มีทั้ง 10 ช่องทาง มีเพียงบุญจากการทาน เท่านั้นที่ใช้เงิน ส่วนที่เหลืออีก 9 ช่องทางไม่ต้องใช้เงินเลยแม้แต่บาทเดียวคือ บุญจากการรักษาศีล บุญจากการเจริญภาวนา บุญจากการอ่อนน้อมถ่อมตน บุญจากการช่วยเหลือสังคมรอบข้าง บุญจากการเปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมทำบุญกับเรา บุญจากการ ยอมรับและยินดีในการทำความดี บุญจากการฟังธรรม บุญจากการธรรมทาน บุญจากการทำความเห็นให้ถูกต้องและเหมาะสม

เคล็ดสำคัญที่จะช่วยให้การทำบุญนั้นได้รับผลบุญมากคือ ต้องระมัดระวังจิตใจทั้ง 3 ระยะเป็นสำคัญต้องดูแลจิตให้ไปทางกุศลอย่าให้จิตตก ทั้งก่อนทำ ขณะทำและหลังทำบุญ ทั้ง 3 ช่วงระยะสำคัญนี้ต้องทำใจให้โล่งๆ โปร่งสบายๆ ยิ่งใจเป็นกุศล นิ่งมากเท่าใด บุญที่ได้รับก็มากตามเท่านั้นเพราะผู้ให้นั้นบริสุทธิ์

เคล็ดสำคัญที่ครูบาอาจารย์ท่านเน้นมากคือ อย่าไปคิดว่าทำบุญแล้วต้องได้ผลอย่างนั้น เมื่อนั้นเมื่อนี้ แบบต้องรวยทันใจ ต้องให้คนมาหลงรัก ต้องแก้ดวงตกเคราะห์ไม่ดีได้ ถ้าไปคิดหวังผลแบบนั้นเลย อาจจะไม่ได้ตามที่หวัง เพราะการคิดแบบนั้นจะไปขวางทางบุญไม่ให้ส่งผลได้เต็มที่

ขอให้ทำบุญแบบไม่หวังผลใดๆ เข้าตัว ทำบุญเพื่อชำระจิตใจให้สะอาด เพื่อให้คนอื่นมีความสุขในบุญของเราที่ทำ ส่วนเรื่องของอานิสงส์บุญอย่างไรก็ต้องได้ เป็นกฎแห่งกรรมอยู่แล้ว เราหว่านอะไรไว้ต้องได้ผลแบบนั้น

อยากได้อะไร อยากขอในเรื่องไหน ขอให้ ไปตั้งจิตในตอนอธิษฐาน ไม่ใช่ในช่วง 3 ระยะสำคัญที่ทำบุญอยู่

เคล็ดในการอธิษฐานนั้นจะอธิบายให้ทราบอย่างละเอียดชัดเจนทุกขั้นตอนในบทต่อไป และเวลาทำบุญก็อย่าไปกังวลว่าพระสงฆ์ ท่านจะเอาของที่ใส่ ทำสังฆทาน ปัจจัยต่างๆ ไปทำอะไร รวมถึงเวลาที่เราจะช่วยเหลือใครแล้วไม่ต้องไปหวังผลตอบแทน “ให้” เพราะอยากเห็นเขามีสุขได้ ให้เพราะอยากเห็นเขาคลายจากความทุกข์ ความไม่มีความขัดสนก็พอ

แต่อย่า “ให้” เพื่อเขาเอาไปทำบาปเป็นอันขาด เช่น การเลี้ยงเหล้า การให้เงินไปทำแท้ง ให้เงินไปทำในสิ่งที่ผิดศีลผิดธรรม เพราะการให้แบบนั้นคือ การร่วมกรรมไม่ดีที่จะส่งผลกรรมแรงมาก ต้องพิจารณาให้ดี

หลายคนทำบุญไม่ได้บุญเพราะจิตตกคิดไปทางอกุศล จิตส่ายไปคิดโน่นคิดนี่จนอาจจะถึงขั้นปรามาสพระสงฆ์ท่าน จะเป็นกรรมหนักเสียเปล่าๆ จะทำบุญแล้วไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องระแวง ครูบาอาจารย์ท่านสอนไว้ว่าวัตถุทานที่ใส่บาตรนั้น

- ถ้าเป็นของดีที่ประณีตมากเหนือกว่าที่เรากินและใช้ก็จะได้บุญมากขึ้นทวีคูณ

- ถ้าเป็นของดีเสมอกับที่เรากินเราใช้ก็ได้บุญเท่าที่เราทำเสมอตัวตามนั้น

- แต่ถ้าเป็นของไม่ดีของเลวกว่าที่ตนเองกินและใช้ อานิสงส์ของบุญที่ได้นั้นจะน้อยมากเพราะเป็นทานที่ไม่เต็มใจ เป็นทานที่ขาดเจตนาที่เป็นกุศล

การพิจารณาคุณภาพของวัตถุทานนั้นสำคัญมาก มหาเศรษฐีหรือคนรวยบางคน มีเงินมากจริงเพราะได้รับอานิสงส์ในการทำทานมามาก แต่ก็มีหลายคนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเงินนั้น เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะทานที่ทำมานั้นเป็นทานชั้นต่ำ ทำทานด้วยของไม่ดีหรือทำทานด้วยความไม่เต็มใจ หรืออาจจะมาจากการทำทานที่หวังผลตอบแทน ทำบุญแบบการค้าแลกเปลี่ยนกัน

คงจะพอเคยเห็นคนรวยที่ขี้เหนียวมาก เวลาที่จะกิน จะซื้ออะไรก็จะเลือกกินแต่ของใกล้จะเสีย หรือของเหลือเดน รวมถึงคนที่กินได้ประเภทกินแต่ข้าวต้มกับปลาเค็ม เศษผักอะไรประเภทนั้น ของดีๆ มีประโยชน์กินไม่เป็น กินไม่ได้ เหตุเป็นเพราะอาจจะทำทานชั้นต่ำมาก่อนและเหตุจากวิบากกรรมไม่ดีมาส่งผลให้เป็นเช่นนั้น ทั้งๆ ที่บางคนอยากจะกิน อยากจะใช้ของดีแต่ก็ทำไม่ได้ บางคนใส่เสื้อผ้าดีๆ กินอะไรดีๆ ไม่ได้เลย ต้องมีผื่นคันหรือถึงขั้นเจ็บไข้ล้มป่วยไปเลย

ดังนั้นการใส่บาตรหากไม่พิจารณาแล้วเอาของเหลือเดน ของบูดเน่าเสียไปใส่บาตร อันนี้จะพูดถึงการที่ไม่รู้มาก่อน นอกจากได้บุญน้อยหรือแทบจะไม่ได้บุญแล้ว ยังไปสร้างบาปเสียอีกเพราะพระสงฆ์ที่รับไปนั้น ท่านเอาไปฉันหรือใช้ไปแล้วเกิดผลเสียต่อสุขภาพ ถือว่าเป็นการไปขวางการปฏิบัติธรรมของท่านด้วย แต่สำหรับพวกที่รู้แก่ใจอยู่แล้วว่าของนั้นบูดเน่าเสีย แล้วยังเอาสิ่งของนั้นไปทำบุญอีก บุญนั้นไม่ได้รับอยู่แล้วล้านเปอร์เซ็นต์ มีแต่บาปล้วนๆ เท่านั้น

เหมือนเป็นการเอายาพิษไปให้พระสงฆ์เลยทีเดียว และจะทำอะไรไม่เจริญเลยในชาตินี้

ครูบาอาจารย์และบรรพบุรุษตั้งแต่ครั้งโบราณท่านรู้เรื่องเคล็ดวิชาเหล่านี้ดี ท่านจึงสอนเสมอว่าต้องพยายามเอาของดีที่สุดที่มีอยู่ใส่บาตร เช่น ข้าวปากหม้อที่หุงใหม่ กับข้าวที่ทำเสร็จใหม่ ผลไม้ที่กำลังสุกงอมดี อะไรที่ไม่ดีท่านจะไม่เอาไปใส่บาตรหรือเอาไปทำบุญ ทำสังฆทานเลยเป็นอันขาด เพราะท่านรู้หลักการทำบุญด้วยของที่ดีกว่าตนเองกินและใช้ เพื่อที่จะเกิดบุญมาก

ยิ่งสมัยนี้มักนิยมทำสังฆทานถังเหลืองกันมากเพราะสะดวกไม่ต้องเสียเวลาจัดเตรียม ขอแนะนำว่าให้ดูให้ดีๆ ในสิ่งของต่างๆ ที่อยู่ในนั้นดูวัน เดือน ปีที่ที่หมดอายุด้วย หากยังพอที่จะมีเวลาก็ควรจะหาซื้อเองจะได้บุญมากขึ้นตามเจตนาและความพยายามในการสร้างบุญนั้น และยังมีอีกหลายอย่างที่พระสงฆ์ท่านต้องการใช้จริงๆ เช่น ยาสระผม รองเท้าแตะ เครื่องเขียน มีดโกน ผ้าขนหนูเนื้อดี ไฟฉาย ฯลฯ

ลองพิจาณาดูว่าอะไรที่ท่านต้องการใช้จริงๆ เพื่อให้ท่านสะดวกในการปฏิบัติธรรม การ”ให้”ที่ตรงกับคนรับต้องการนั้นได้บุญมากด้วย เพราะตรงกับความเดือดร้อน ตรงเวลา ตรงประโยชน์

หลายคนไม่ค่อยมีเวลาในตอนเช้าที่จะไปใส่บาตร เพราะอาจจะติดภารกิจต่างๆ ก็ให้เอาเงินที่จะใช้ใส่บาตรในแต่ละวันนั้น ใส่ซองหรือใส่กระปุกเก็บไว้ก่อน เมื่อมีเวลาเมื่อใดก็ไปที่วัดเอาเงินในกระปุกนั้นตั้งจิตอธิษฐานถวายเป็นค่าภัตตาหารของพระสงฆ์ สามเณร เงินนั้นจะน้อยหรือมากไม่เป็นไร ไม่สำคัญอยู่ที่เจตนา ครูบาอาจารย์ท่านแนะนำว่า ควรฉลาดในการทำบุญคือ เฉลี่ยบุญให้ครบในทุกวัน

เช่น ใน 7 วันนี้เราเก็บเงินในกระปุกได้ 7 บาทก็อธิษฐานว่า ขอถวายเป็นค่าภัตตาหารของสงฆ์วันละ 1 บาทครบ 7 วัน พออาทิตย์หน้ามาทำใหม่ก็ใช้วิธีเดิมจะได้บุญครบถ้วนทุกวัน เงินบาทเดียว สลึงเดียวถ้าเป็นเงินบริสุทธิ์มาจากความอดออม มาจากความตั้งใจอย่างแรงกล้าแล้ว คนที่ทำทานนั้นจะได้บุญมากเหลือที่จะสุดบรรยายได้

สำหรับการเฉลี่ยบุญแบบนี้ จะทำให้เราได้สร้างบุญครบต่อเนื่องไปทุกวันไม่มีขาดตอน ถือว่าเป็นการสะสมบุญให้กลายเป็นบุญใหญ่ บุญกุศลก็จะหนุนนำชีวิตให้ดีขึ้นในทุกๆ วัน และเป็นการส่งเสริมให้จิตอยู่กับกุศลตลอดเวลา

หรืออาจจะใช้วิธีฝากหรือไหว้วานให้คนอื่นไปใส่บาตรแทนให้ก็ได้ แต่ก็ให้”จบของ” เงินนั้นเสียก่อนแล้วค่อยมอบเงินให้ไป เรื่องนี้ถือว่าได้บุญสองเท่าด้วย เพราะนอกจากจะได้บุญจากการใส่บาตรแล้ว ยังได้บุญจากการที่ชักชวนคนไปสร้างบุญด้วย แต่อย่าไปบังคับไปขู่เข็ญให้เขาทำแทนโดยที่ไม่เต็มใจ เพราะจะเป็นบาปปนกับบุญ

ถ้าอยากจะได้บุญถึง 3 เท่า 3 ทาง เงินที่เตรียมใส่บาตรไว้ที่เตรียมจะให้คนอื่นไปใส่บาตรแทนนั้น เราก็ให้เกินจำนวนที่เตรียมจะใช้ใส่บาตรจะดียิ่งขึ้น เช่น เงินที่เตรียมใส่บาตร 100 บาทใน 1 อาทิตย์ก็เพิ่มเป็น 150 บาทส่วนที่เพิ่ม 50 บาทให้เป็นทานแก่คนที่ไปใส่บาตรแทนให้ก็จะได้บุญทั้ง 3 ทาง

ครูบาอาจารย์อีกท่านหนึ่ง เมตตาแนะนำเสริมว่าโดยเฉพาะการ “จบของ” ก่อนใส่บาตรหรือทำสังฆทานนั้น ผู้ที่กำลังมีเจ้ากรรมนายเวรมารังควานมารบกวนหรือคิดว่ามี ที่กำลังทำให้เกิดปัญหาทั้งด้านการเงิน การงาน สุขภาพหรือด้านใดก็ตาม

ขอให้ตั้งจิตอธิษฐานอุทิศบุญไปตอนนั้นเลย…และต้องแบบเจาะจงเฉพาะตัว

เฉพาะเรื่องที่กำลังมีปัญหาอยู่ ถ้าจะให้ดีมากๆ ให้เจาะจงเรื่องที่ต้องการจริงๆ เพียงเรื่องเดียว อย่าเหมารวมทุกเรื่องแบบบุฟเฟต์ ปนมั่วสับสนกันไปหมดเพราะแรงบุญนั้นอาจจะกระจายไปเรื่องนั้นนิด ไปเรื่องนี้หน่อย จนอาจจะไม่เกิดพลัง ไม่เกิดผลเท่าที่ควร จึงขอแนะนำให้อธิษฐานในเรื่องเดียวแบบตรงประเด็นที่สุด เช่น

“ด้วยบุญกุศลในการใส่บาตร (หรือทำสังฆทาน) ที่ข้าพเจ้า ……….(ชื่อของตน) ได้ทำสำเร็จแล้วในวันนี้ ขออุทิบุญให้กับเจ้ากรรมนายเวร ที่ตามจองเวรอยู่ในขณะนี้ที่กำลังทำให้เดือดร้อนเรื่อง…..(เรื่องที่กำลังเกิดขึ้นไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม) ขอให้ท่านเมตตามารับ มาร่วมอนุโมทนาบุญที่ทำนี้ เมื่อท่านยินดีพอใจในบุญนี้แล้วขอให้ถอนตัวจากอุปสรรคที่กำลังเกิดขึ้น และให้อโหสิกรรมกับข้าพเจ้า ขออานิสงส์แห่งบุญนี้ช่วยปรับภพภูมิให้เจ้ากรรมนายเวรอยู่ในภพภูมิที่มีความสุขยิ่งขึ้นไป นับตั้งแต่บัดนี้เทอญ” (คำอธิษฐานนี้อาจจะแตกต่างกันไปตามครูบาอาจารย์ แต่รับรองว่าถ้าถูกธรรมแล้วดีทุกครูบาอาจารย์ เพราะท่านพิจารณาแล้วขอให้เลือกใช้ได้ตามจริตของท่าน)

เวลาที่อธิษฐานอุทิศบุญแผ่เมตตานี้ ในช่วงที่หลับตาตั้งจิตอธิษฐานขอให้นึกภาพว่ามีแสงสว่างมารวมที่จิตให้สว่างมากที่สุดเท่าที่จะนึกได้ แล้วส่งแสงสว่างนั้นออกจากจิตของเราให้พุ่งออกไปในวงกว้าง ยิ่งเราจำหน้าคนที่เราอยากอุทิศบุญไปให้ เช่น พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ลูก หรือเจ้าหนี้ เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายให้ลำแสงที่ออกมาจากจิตนั้นพุ่งตรงไปที่เขาเลย จะเกิดผลดีมาก

สำหรับครูบาอาจารย์ พระอริยสงฆ์ พรหมเทพเทวาทั้งหลายที่เราอุทิศบุญเพื่อถวายและเพื่อโมทนาพระคุณความดีของท่าน ขอให้เปลี่ยนจากการนึกภาพของแสงเป็นดอกไม้แทน จะเป็นดอกบัวหรือดอกอะไรก็ได้ที่ท่านชอบ เปลี่ยนจากการส่งลำแสงพุ่งไปหาเป็นการถวายดอกไม้ท่านที่เท้าของท่านหรือตรงหน้าท่านก็ได้

หลายคนที่จิตมีกำลังมาก เมื่อเวลาอธิษฐานอุทิศบุญนี้สำหรับอุทิศโมทนาพระคุณความดีของสำหรับ พระอริยสงฆ์ พรหมเทพเทวา ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ดอกไม้ที่ถวายในจิตนั้นจากดอกไม้ธรรมดาจะกลายเป็นดอกไม้บุญที่สุกสกาวเหมือนเพชรที่มีแสงระยิบระยับ สวยงามมาก

ในส่วนของการอธิษฐานอุทิศบุญแผ่เมตตาไปให้เจ้ากรรมนายเวร คนที่จิตมีกำลังมากจะเห็นภาพในนิมิตเหมือนดาวระยิบระยับพุ่งขึ้นบนท้องฟ้า ซึ่งก็หมายความว่า เจ้ากรรมนายเวรเขามีความสุขได้ปรับภพภูมิที่สูงขึ้นด้วยอานุภาพแห่งบุญที่เราอธิษฐานอุทิศบุญแผ่เมตตาไปให้ (แต่ท่านที่ไม่เห็นก็ไม่เป็นไร ขอให้ใจเป็นสุขในการให้และหมั่นทำไปเรื่อยๆ จะเห็นเอง)

สำหรับเจ้ากรรมนายเวรที่สร้างปัญหาชีวิตให้กับเรานั้นมีอยู่ 2 แบบที่อยากจะเรียนให้ทราบ คือ แบบที่หนึ่งเป็นดวงจิตวิญญาณที่อยู่กันคนละภพภูมิกับเรา ไม่ว่าจะอยู่ในภพภูมิสูงเป็นเทวดาหรือต่ำกว่าเราพวกผี พวกสัมภเวสีต่างๆ เป็นกายละเอียดที่เรามองด้วยตาเนื้อไม่เห็น การติดต่อกับเขาได้ต้องด้วยทางจิตเท่านั้นและการที่จะให้อะไรกับเขาต้องด้วยบุญเท่านั้นเช่นกัน จึงเป็นที่มาของการที่ต้องอุทิศบุญไปให้เขาเพื่อการอโหสิกรรม

แบบที่สองเป็นเจ้ากรรมนายเวรแบบมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่พี่น้องญาติสนิทมิตรสหาย เพื่อนร่วมงาน คู่ค้า ลูกค้า สัตว์เลี้ยงหรือสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายที่มาทำให้เราทุกข์ใจหรือเดือดร้อนในเรื่องต่างๆ เจ้ากรรมนายเวรแบบมีชีวิตนั้นส่วนมากเราจะเป็นหนี้เขาด้วยการกระทำ เป็นหนี้เรื่องทรัพย์สินเงินทอง หากเราได้ทำการชดใช้และได้ไปขออโหสิกรรมกับเขา กรรมนั้นมักจะอโหสิกรรม

นอกจากเรื่องทางกาย วาจาและใจที่เขาอาจจะไม่อภัย เช่น ไปเบียดเบียนเขา ไปทำให้เขาเสียประโยชน์ ไปสร้างความเจ็บแค้นทางใจอย่างรุนแรงจนเขาแค้นมากอาจจะไม่เอาแล้วเงินทอง คอยจ้องจะทำให้เราเสียหายตกต่ำช้ำใจให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

บางคนเขาไม่แสดงออกแต่เขาแค้นอาฆาต ถ้าเจ้ากรรมนายเวรที่มีชีวิตแบบนี้เราไปหาเขาไม่ได้แน่นอนเพราะอาจจะไม่ปลอดภัย หากเรารู้จักชื่อเสียงของเขา ที่อยู่เป็นหลักแหล่งของเขา ตอนที่อุทิศบุญให้เอ่ยนามเขาและที่อยู่ด้วยจะดีมากๆ แบบเจาะจงตัวไปเลย

นอกจากอุทิศบุญให้กับเจ้ากรรมนายเวรแล้ว การอุทิศบุญให้เทวดาประจำตัวของเจ้ากรรมนายเวรที่มีชีวิตนั้นสำคัญมาก

เพราะเจ้าหนี้บางคนนั้นที่ยังมีชีวิตอยู่ ดวงจิตของเขาบางคนยังโกรธมากๆ คงไม่ยอมยกโทษให้ง่ายๆ และมีความแค้นอาฆาตรุนแรง การอุทิศบุญไปให้เทวดาประจำตัวของเขาก็เพื่อขอให้ท่านช่วยเมตตาดลบันดาลทำให้จิตเขากลับเข้ามาทางกุศล เพื่อขอให้ท่านช่วยนำทางเขาให้คิดมาทางธรรมได้เร็วขึ้น เพื่อให้เจ้าหนี้เขารู้จักการให้อภัย การปล่อยวางได้ ซึ่งจะนำไปสู่การอโหสิกรรมต่อไปที่จะสำเร็จลงได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งใช้ได้กับทุกเจ้ากรรมนายเวรที่มีชีวิต มีคนที่ทำงานแล้วเกิดปัญหากับเพื่อนร่วมงาน คู่ค้า เพื่อนบ้านหรือแม้แต่คนในบ้านการอุทิศบุญแบบเจาะจงนี้ช่วยให้คลายทุกข์มาแล้วมากมาย

การอุทิศบุญแบบเจาะจงอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุรุษไปรษณีย์ที่ไปส่งจดหมายจะได้ส่งจดหมายนั้นถูกบ้านถูกตัว เพราะหากเราไม่เอ่ยชื่อเขาหรือเอ่ยถึงความเดือดร้อนที่ได้รับอยู่ในขณะนั้นแบบตรงตัว ตรงประเด็น ก็เหมือนเขียนจดหมายแต่ไม่จ่าหน้าซอง บุรุษไปรษณีย์ก็ไปส่งไม่ถูกคนนั้นแหละ

สุดท้ายในเรื่องนี้ ขอให้รับทราบไว้ด้วยว่า อันคนเรานั้นไม่ได้มีเจ้ากรรมนายเวรรายเดียวแน่ๆ แค่คิดแต่เพียงที่เคยสร้างกรรมในชาตินี้ ลองคิดทบทวนดูดีๆ ว่าคงมีมากมาย ยิ่งรวมกับในอดีตชาติแล้วต้องนับกันไม่ถ้วนเลยทีเดียว จึงเป็นเหตุผลที่หลายคนบอกว่า ทำไมวิบากกรรมไม่ดีจึงยังไม่หมดจากชีวิตเสียที ก็เพราะเราสร้างเจ้ากรรมทำให้เกิดเจ้ากรรมนายเวรมากมาย

การสร้างบุญและอุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวรนั้นจึงควรหมั่นทำทุกๆ วัน เพราะเราไม่รู้ว่าวันนี้ พรุ่งนี้จะเจอวิบากกรรมใดและเจ้ากรรมนายเวรท่านไหนมาทำให้เดือดร้อน จะเป็นกรรมหนักหรือกรรมเบา ถ้ามัวแต่นั่งรอให้วิบากกรรมไม่ดีมาส่งผล ยิ่งเป็นกรรมหนักฝ่ายไม่ดีด้วยแล้ว มันจะไม่ทันการณ์ ไม่ทันเวลา เป็นคนประมาทเหมือนคนไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา หรือเพิ่งจะมาคิดมาหัดว่ายน้ำตอนที่แพจะแตกแล้วมันไม่ทันแน่นอน

ดังนั้นเราควรจะสร้างบุญอธิษฐานอุทิศบุญแผ่เมตตาให้กับเจ้ากรรมนายเวรอย่างสม่ำเสมอถ้าทำแบบไม่หยุดยั้งแล้ว ชีวิตของเราก็จะดีขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะวิบากกรรมไม่ดีและจำนวนเจ้ากรรมนายเวรจะลดลงไปเรื่อยๆ เช่นกัน แต่ต้องทำด้วยความสำนึกผิด แล้วอยากจะให้เจ้ากรรมนายเวรเขามีความสุขพ้นทุกข์จริงๆ เจ้ากรรมนายเวรเขารับรู้ได้ถึงเจตนาที่แท้จริง อย่าไปหลอกเขาเพราะไม่มีทางหลอกเขาได้ เขามีจิตที่ละเอียดกว่าเรามาก ขอให้สำนึกผิดจริงๆ แล้วอยากจะขอโทษ อยากช่วยเขาจริงๆ จะทำให้เราหลุดจากอุปสรรคเรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้นเร็วมาก

เรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ได้ใช้เวลาอะไรมาก แต่ถ้าทำได้ถูกวิธีตรงช่องทาง ชีวิตก็จะมีความสุขเพิ่มขึ้นๆ ในทุกวัน โชคลาภที่ควรจะได้ก็จะเข้ามาเพราะเจ้ากรรมนาเวรเขาพอใจและให้อโหสิกรรมถอนตัวไป ไม่มาบังความสุข ไม่ปิดทางโชคลาภอีกแล้วนั่นเอง

เมื่อบุญเกิดขึ้นแล้ว เราสามารถน้อมเอาผลบุญนั้น มาอุทิศให้แก่ผู้อื่น เพื่อให้ผู้อื่นนั้นมีความสุขด้วย อีกทั้งยังเป็นการใช้หนี้เวร หนี้กรรม เศษเวร เศษกรรม ทั้งหลาย ที่เกิดจากบาปเวรอกุศลกรรมที่เราเคยสร้างไว้กับผู้อื่น อันเป็นผลให้เราได้รับวิบากกรรมชั่วต่างๆ นานา (ที่เรามักว่ามาจากเจ้ากรรมนายเวรนั่นแหละ) โดยบุญที่เกิดขึ้นนั้น ก็ยังเป็นบุญของเราอยู่ด้วย การอุทิศให้ผู้อื่น ก็เพื่อให้เขาได้อนุโมทนาและได้มีส่วนในบุญนั้นด้วย

ต่อจากนั้นเราก็กล่าวอุทิศบุญทั้งหลายนี้ให้กับบุคคลทั้งหลายที่เราปรารถนาจะอุทิศให้ แล้วจึงตั้งจิตอธิษฐาน เพื่อให้บุญนั้นเกิดเป็นความสำเร็จในกิจการงานต่างๆ ตามที่เราได้ปรารถนา หรือตั้งเป้าหมายไว้ ส่วนการที่เราจะอุทิศบุญให้แก่ใคร บุคคลใดนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราจะไปเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับบุคคลต่างๆ ในแง่ใด ในสถานการณ์ใด (ในทุกๆ ภพภูมิ หรือทุกมิติ) แล้วจึงเจาะจงอุทิศให้ไป (การอุทิศบุญต้องเจาะจง)

***(ควรทำให้ได้ทุกวัน และในแต่ละวันควรทำบุญให้ครบส่วน ทั้งในส่วนของ ทาน ศีล ภาวนา กรณีไม่มีโอกาสได้ทำทานทุกวัน หรือคิดว่ายังไม่พร้อมเพียงพอในเรื่องทรัพย์ปัจจัยที่จะนำไปใช้ในการทำบุญ ก็ให้หมั่นสะสมไว้ ใช้วิธีหยอดเงินใส่กระปุกออมสินรวบรวมไว้ก็ได้ แล้วนำไปทำทาน ถวายทาน ในแต่ละสัปดาห์ หรือตามโอกาส การทำบ่อยๆ จะทำให้จิตระลึกถึงบุญกุศลอยู่เสมอ)

คำกล่าวอุทิศ โดยทั่วไป ใช้คำว่าอุทิศได้ทั้งนั้น ส่วนคนที่มีบุญบารมีมาก เราก็ควรใช้คำที่เหมาะสม ว่า “อุทิศถวายแด่” เช่น พรหมเทพ เทวดา ชั้นสูง บรรพกษัตริย์ แต่ในส่วนของผู้ทรงพระคุณความดีสูงสุด ครูบาอาจารย์ สมณะทั้งหลาย เราใช้คำว่า ขอน้อมถวายผลบุญนี้เพื่อบูชาพระคุณความดี ของท่าน

ตัวอย่าง

- ขอน้อมผลบุญทั้งหลายทั้งปวงนี้ ถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา อริยสังฆบูชา

- ขอน้อมถวายผลบุญทั้งหลายทั้งปวงนี้ ถวายเพื่อโมทนา และบูชาพระคุณความดีของ สมเด็จพระสังฆราชฯ ท่านพระอาจารย์…. ฯลฯ

- ขออุทิศถวายผลบุญทั้งหลายทั้งปวงนี้ แด่ ท่านท้าวพระยายมราช ท่านท้าวจตุโลกบาล พระแม่ธรณี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ฯลฯ

- ขออุทิศผลบุญทั้งหลายทั้งปวงนี้ ให้แก่ บิดา มารดา นาย ก. นางสาว ข. เจ้ากรรมนายเวร ฯลฯ



****คำอุทิศบุญนี้ได้รับเมตตาจากครูบาอาจารย์คนสำคัญของ ธ.ธรรมรักษ์ คือ พระอาจารย์เกียรติณรงค์ กิตฺติวฑฺฒโน สถานปฏิบัติธรรมบ้านสุกขวิปัสสโก (บ้านจิตกุศล) จ.เชียงใหม่