วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2556

5 ของกิน อร่อยแทนยา!

ภาพ

ไม่ต้องไปวิ่ง หายากินให้ขมคอ แค่หยิบสิ่งเหล่านี้มาลิ้มลองรส คุณก็สามารถมีสุขภาพดีได้อย่างไม่ลำบากมากมายแล้ว ด้วยสรรพคุณของมันที่อาจไม่เคยรู้มาก่อน
       
       1. มันฝรั่ง = ยาลดความดัน
       ในมันฝรั่งมีสารเคมีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติชื่อว่า “คูคัวไมน์ส” ช่วยควบคุมความดันโลหิตให้ต่ำลงได้ผลชะงัก
     
       2. เนย = ยานอนหลับ
       ในเนยมีกรดอะมิโน ที่มีชื่อว่า “ทริปโตพัน” ช่วยให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย และสะกดให้หลับได้สนิทยิ่งขึ้น
     
       3. ส้ม = ยาแก้เบื่อ
       กลิ่นส้มช่วยให้ รู้สึกผ่อนคลาย ส่วนวิตามินซีในนั้นช่วยให้สมองหลั่งฮอร์โมนคลายความเครียด แก้เบื่อ แก้เซ็งได้ แต่มีข้อแม้ว่า ต้องกินโดยปอกเปลือกเองเท่านั้น
     
       4. ช็อกโกแลต = ยาแก้ไอ
       ในโกโก้ ซึ่งใช้ทำช็อกโกแลต มีสารที่ชื่อ “ธีโอโบรไมน์” ออกฤทธิ์ที่เส้นประสาท “เวกัสเนอร์ฟ” ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการไอ กินแล้วช่วยให้หยุดอาการไอเรื้อรังอย่างได้ผล
     
       5. บ๊วย = ยาชูกำลัง
       บ๊วยมีค่าความเป็น ด่าง PH 7.35 ซึ่งใกล้เคียงกับเลือดของคนเรา กินแล้วจึงช่วยถ่วงดุลความเป็นด่างในร่างกายไว้ได้ ช่วยลดอาการอ่อนเพลียจากภาวะเหนื่อยอ่อน เนื่องจากกรดในเลือดสูง ค่าความเป็นด่างไม่สมดุล แถมยังมีโปรตีน เกลือแร่ และสารอาหารจำเป็นอีกเยอะแยะ
     
       Info Graphic โดย ASTV ผู้จัดการ LIVE

วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2556

ดอยหลวงเชียงดาวในหมวก 6 ใบ

ดอยหลวงเชียงดาวในหมวก 6 ใบ
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
  
13 มกราคม 2556 12:19 น.    


ภาพดอยหลวงเชียงดาว ของคุณ “Jungle Man” ที่กระจายข่าวเกี่ยวกับการปลุกกระแสกระเช้าไฟฟ้าที่
เงียบหายไปกว่า 10 ปีจนเป็นกระแสสังคมในโซเซียลเน็ตเวิร์ค

การแก้ปัญหาด้วยการคิดแยกแยะเหตุผลที่ไปที่มาให้แจ่มแจ้ม ไม่ว่าจะคิดร่วมกันหรือนั่งคิดคนเดียว อาจทำให้รับมือกับปัญ
หาโหดหินได้ง่ายขึ้น เมื่อเกิดปัญหาสาธารณะ การแยกแยะข้อดี ข้อเสีย เพื่อสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ๆ บนเหตุและผลที่หลากหลายเพื่อตัดสินใจร่วมกัน อาจทำได้ด้วยวิธีคิดแบบ “หมวก 6 ใบ”    
     
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีภาพดอยหลวงเชียงดาวยามเช้าที่โพสโดยช่างภาพ ท่านหนึ่งกระจายบนโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างรวดเร็ว เพราะเนื้อความได้พูดถึง “การปลุกกระแสสร้างกระเช้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาว” ทำให้มีผู้ให้ความคิดเห็นหลากหลายทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ตัวนายปรี๊ดไปเยือนยอดเขาหินปูนแห่งนี้ถึง 3 ครั้ง เพราะในมุมของนักชีววิทยาดอยหลวงเชียงดาว คือ “หิมาลัยแบบไทยๆ” เนื่องด้วยมีพืชและสัตว์เฉพาะถิ่นจำนวนมากอาศัยอยู่ในภูมิประเทศอัน ทุรกันดารซึ่งหาดูที่อื่นไม่ได้     
     
หลายคนจึงสะท้อนความกังวลในฐานะเจ้าของทรัพยากรคนหนึ่งว่า หากนักท่องเที่ยวจำนวนมากหวังเพียงแต่ขึ้นกระเช้าไปปักหมุดลงไอโฟนหรือถ่าย ภาพลงเฟซบุ๊ก แทนที่จะเคารพและรักษาพื้นที่ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงแล้ว จะคุ้มกันหรือไม่กับสิ่งก่อสร้างต้นทุนสูง กระแสการสร้างกระเช้าไฟฟ้าดอยเชียงดาวจึงเริ่มเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลังจากที่เงียบไปนานกว่า 10 ปี ปัญหาเรื่องนี้อาจบอบบางไม่ต่างกับธรรมชาติบนยอดดอย หรือสามารถขยับขยายจนเป็นฉนวนใหญ่จุดไฟทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ และการเมืองขึ้นมาพร้อมๆ กัน     
     
ดังนั้น การหาวิธีการเพื่อสะท้อนความคิดของคนแต่ละฝ่ายตามหลักการคิดอย่างเป็นวิทยา ศาสตร์ เช่น การวิเคราะห์ข้อเท็จจริง แยกแยะ รวบรวม และชั่งน้ำหนักก่อนตัดสินใจอาจมีผลดี หรือลดผลกระทบที่ตามมาได้มากที่สุด
            
หนึ่งในวิธีคิดที่พูดกันมานาน สอนกันมานาน แต่กลับนำมาใช้น้อยมากในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมที่ปะปนด้วยข้อ เท็จจริงและความขัดแย้ง คือ “คิดแบบหมวก 6 ใบ” หรือการจำลองการสวมหมวกสีต่างๆ เพื่อกำหนดกรอบความคิดให้ชัดเจนในแต่ละประเด็น ซึ่งเสนอโดย ดร. เอดเวิร์ด เดอ โบโน (Edward de Bono) นักจิตวิทยาชาวมอลต้า เมื่อปี 1985 ในหนังสือชื่อ “Six Thinking Hats”     
     
วิธีคิดที่ ดร. เดอ โบโน ใช้เป็นวิธีคิดแบบแนวข้าง (Lateral thinking) ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการจัดการข้อเท็จจริงและความคิดสร้างสรรค์ที่กระจัด กระจายอยู่รอบๆ ปัญหามาแยกแยะเป็นก้อนๆ เพื่อให้สะดวกต่อการต่อยอดทางความคิด ซึ่งเป็นการขยายกรอบในกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) ที่ต้องเริ่มต้นจับปัญหาให้มั่น และหาเหตุผลหรือวิธีแก้เป็นขั้นๆ ในแนวดิ่ง (Horizontal หรือ Logic to logic thinking)    
     
หากเปรียบง่ายๆ วิธีคิดแนวข้างอาจเหมือนการมองปัญหา และข้อเท็จจริงให้ทั่วทั้งก้อน แล้วนำไปวางตามขั้นบันได เพื่อวางแผนหรือกำหนดขั้นตอนการแก้ปัญหาที่ต้องเดินไปเป็นขั้นเป็นตอนให้ ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะระหว่างทางการเดินบนบันไดก็สามารถหยิบวัตถุดิบทางความคิดที่หลากหลาย นั้นมาใช้ได้สะดวก จึงเหมาะสมกับปัญหาที่มีผลกระทบกับคนหลายฝ่ายและมีความคิดเห็นจำนวนมาก     
     
ครั้งนี้นายปรี๊ดจึงขอลองใช้ตัวอย่าง “ปัญหากระเช้าไฟฟ้ากับดอยหลวง” ซึ่งมีความคิดเห็นหลากหลายมาเป็นตัวอย่างว่าเราจะสามารถหาวัตถุดิบทางความ คิดจากความแตกต่างนี้ได้อย่างไร แล้วจะมีไอเดียไหนที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด ถือว่าวันนี้เราใช้เรื่องกระเช้าดอยหลวงเชียงดาวเป็นแบบฝึกหัดเล็กๆ เพื่อมองปัญหาสังคมแบบแยกแยะก็แล้วกันครับ
           
หมวกสีขาว: หมวกแห่งข้อเท็จจริง หมวกสีขาวใช้แทนการให้ข้อเท็จจริง โดยไม่มีอารมณ์และความรู้สึกมาเกี่ยวข้อง นักวิทยาศาสตร์หรือนักวิชาการจึงมักถูกคาดหมายให้แสดงออกในลักษณะนี้ ดอยหลวงเชียงดาวเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดอันดับ 3 ของประเทศ แต่ถ้าเทียบกันระหว่างเขาหินปูนยอดดอยหลวงเชียงดาวนับว่าสูงที่สุดที่ระดับ ความสูง 2,275 เมตรจากระดับน้ำทะเล  
     
ความพิเศษของพื้นที่แห่งนี้ คือ ลักษณะของเขาหินปูนที่แข็งแกร่งแต่มีรูพรุนทำให้เก็บกักน้ำบนพื้นผิวไม่ได้ มีลมพัดแรงตลอดทั้งวัน ทำให้พรรณพืชที่ขึ้นมีลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย หรือเป็นกอเล็กๆ ซึ่งภูมิประเทศประหลาดนี้ถูกเรียกว่าภูมิประเทศกึ่งอัลไพน์ (semi-alpine) คล้ายกับบางส่วนในเทือกเทือกเขาแอลป์และหิมาลัยแต่ก็มีความสูงน้อยกว่าและ แห้งแล้งกว่า 
     
จนทำให้พืชและสัตว์เกือบทั้งหมดที่สามารถปรับตัวอาศัยอยู่ที่นี่ได้ เป็น “สิ่งมีชีวิตถิ่นเดียว” ที่ไม่สามารถพบที่อื่น เช่น ต้นเทียนนกแก้ว ชมพูเชียงดาว คำป้อหลวง ดอกหรีดเชียงดาว กุหลาบพันปี ค้อเชียงดาว และกล้วยไม้สิรินธร ซึ่งเป็นสกุลใหม่ของโลก และมีความอ่อนไหวทางชีววิทยามากเพราะมักจะออกดอกผลในฤดูหนาว และพักตัวในฤดูแล้ง ส่วนสัตว์ก็พบ ไก่ฟ้าหางลายขวาง นกไต่ไม้ใหญ่ และสัตว์สงวนที่ใกล้สูญพันธุ์ที่สุดชนิดหนึ่งของไทยคือกวางผา
            
ดอยหลวงเชียงดาวมีความสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเป็นต้นน้ำของลุ่มน้ำปิง จนทำให้พื้นที่แห่งนี้ถูกจัดเป็น “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว” ซึ่งมีจุดประสงค์หลักในการอนุรักษ์ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตเป็นหลัก ซึ่งต่างจากการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อกิจกรรมสันทนาการและการท่องเที่ยวพ่วงเข้าไปด้วย     
     
ส่วนที่มาของการแนวคิดสร้างกระเช้าไฟฟ้า เริ่มต้นในปี 2546 เมื่อมีคนใหญ่คนโตท่านหนึ่งนั่งเฮลิคอปเตอร์ผ่านยอดเขาแล้วพูดว่า “น่าจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว” แนวคิดต่างๆ จึงผุดขึ้นมาจนสุดท้ายมาลงที่การสร้างกระเช้าไฟฟ้าด้วบงบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท แต่ด้วยขณะนั้นมีเสียงคัดค้านมากกกว่าสนับสนุน ทั้งสื่อ ภาคประชาขน และ NGOs ท้องถิ่น จนเกิดการรวมตัวเป็นภาคีดอยเขียงดาว เรื่องกระเช้าไฟฟ้านี้จึงเงียบลง จนกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง     
     
หมวกสีแดง: หมวกแห่งความรู้สึก การใส่หมวกสีแดงเหมือนการปลดปล่อยความรู้สึก ทั้งดี ร้าย ลางสังหรณ์และความประทับใจต่างๆ สำหรับความคิดใต้หมวกสีแดง นายปรี๊ดประทับใจธรรมชาติของดอยหลวงเชียงดาวทั้งในมุมของนักเดินทางและนัก ชีววิทยา ในแง่มุมของนักเดินทาง ทางขึ้นดอยหลวงเชียงดาวท้าทายอย่างที่สุด เพราะต้องปีนเขาชันเท้าฝ่าแดดเปรี้ยงบนสันเข้าหินปูนที่มีร่มไม้ให้หลบเงา เพียงน้อยนิด ไม่มีแหล่งน้ำ ไม่มีฟ้า ไม่มีห้องน้ำตลอดระยะทางเกือบ 10 กิโลเมตร พบตกค่ำอากาศจะจะเย็นลงอย่างรวดเร็ว ก่อไฟไม่ได้เพราะไม่มีฟืน เล่นดนตรีไม่ได้เพราะจะรบกวนสัตว์ป่า แถมเดินไปไหนไม่ได้เพราะมีพื้นที่ราบไม่มาก    
     
หากแต่ดอยหลวงเชียงดาวถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางนิเวศน์ที่สมบูรณ์ แบบเพราะเมื่อตื่นมาในยามเช้ารางวัลยิ่งใหญ่คือการรับแสงแดดแรกบนยอดเขาสูง กลางทะเลหมอกที่กว้างสุดตา ซึ่งหลายคนที่ไปก็ล้วนแต่ได้สัมผัสถึงความนับถือในความมุ่งมั่นและร่างกาย ที่แข็งแรงของตนเองและความสามัคคีในหมู่เพื่อนร่วมทางที่พากันมาได้ถึงขนาด นี้     
     
ในแง่ของนักชีววิทยาดอยหลวงเชียงดาว คือ “ความฝันที่จับต้องได้” ทุกครั้งที่ไปเยือนนายปรี๊ดมักนั่งขลุกอยู่กับพื้นได้นานเป็นวันๆ เพียงเพื่อได้ก้มดูพืชพรรณแปลกตาที่ไม่พบที่ไหน มองเขาหินปูนและรับรู้บรรยากาศที่จำกัดให้สัตว์มีชีวิตต้องปรับตัวให้อยู่ รอด หรือนั่งเฝ้าดูนกกินปลีสีแดงเพลิงบินดอมดอกกุหลาบพันปีอยู่ไกลๆ หรืออาจะเพราะที่นี่เป็นเพียง “ที่เดียว” ในประเทศที่พาเราบินไปใกล้“หิมาลัย” ได้มากที่สุด อีกทั้งต้นไม้เล็กๆ ในบนยอดดอยที่แห้งแล้งอาจใช้เวลาหลายสิบปีในการเติบโต แต่การเหยียบย่ำเพียงครั้งเดียวอาจจบทุกอย่างได้ หากวันหนึ่งทุกอย่างหายไปก็เท่ากับว่าประเทศเราได้สูญเสีย “มรดกแผ่นดิน” ที่มีค่าไปและไม่มีโอกาสได้คืนมาอย่างเดิมแน่นอน

การคิดแบบหมวก 6 ใบ

หมวกสีเหลือง: หมวกแห่งการสนับสนุน เวลาสวมหมวกสีเหลืองสิ่งที่ต้องแสดงออกคือความหวัง ความคิดเพื่อสนับสนุนในเชิงบวก นายปรี๊ดเชื่อว่าการสร้างกระเช้ามีข้อดีกับชุมชน ในแง่ของความสะดวกสบายและเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มีโอกาสมาเยี่ยมชม น่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้คนทุกเพศทุกวัยทั้งเด็ก วัยรุ่น และคนชราได้สัมผัสความมหัศจรรย์ของธรรมชาติอันจำเพาะถิ่นได้ง่ายขึ้น เพราะหากดำเนินการได้ตามแผนงานเดิมดอยเชียงดาวอาจรับรองนักท่องเที่ยวแบบครบ วงจรได้ทั้งภัทตาคาร ที่พัก และศูนย์การค้าที่จะสร้างขึ้นได้มากถึงปีละ 20,000 คน ถ้าจัดการได้ดีก็น่าจะทำให้ประชาชนรอบๆ มีโอกาสมีรายได้จากการท่องเที่ยวได้มาก ในแนวคิดแบบทุนนิยมอาจจะถือว่ามีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อชุมชนมากทีเดียว และอาจนำงบประมาณการพัฒนาด้านอื่นๆ เช่น ถนน เข้ามาในพื้นที่ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย     
     
หมวกสีดำ: หมวกแห่งการทบทวน ใช้ชี้จุดอ่อน การวิจารณ์จากบทเรียนในอดีต ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต คำเตือน หรือข้อควรระวัง ซึ่งหมวกใบนี้ถูกพูดถึงอย่างมากเมื่อกระเช้าไฟฟ้าถูกนำมาเป็นประเด็น และแน่นอนว่าหลายเรื่องล้วนแต่น่าห่วงทั้งสิ้น อันดับแรกคือ พื้นที่รองรับคนบนยอดดอยหลวงนั้นจำกัดมาก เพราะบนยอดดอยมีพื้นที่ราบที่ใช้กางเตนท์ก่อนขึ้นถึงยอดดอยกว้างเพียงสนามบา สเก็ตบอลต่อกันสัก 2 สนาม
         
ส่วนยอดดอยนั้นแคบมากขนาดเท่ากับสนามแบดมินตันเล็กๆ เท่านั้นแถมพื้นก็ยังเป็นหินแหลมคม ตะปุ่มตะป่ำเต็มไปด้วยมอสและพรรณไม้หายากซ่อนตัวอยู่ ในฤดูแล้งก็มักจะมีไฟป่าตามธรรมชาติลุกโซนเพราะพืชพรรณจะกลายเป็นเชื้อเพลิง ชั้นดีจนทำให้เขตรักษาพันธุ์มีข้อห้ามขึ้นดอยหลวงในช่วงฤดูแล้ง จนบางคนให้เหตุผลน่าฟังว่า “อาจต้องลืมเรื่องพาคนแก่และเด็กมาเที่ยวได้เลย เพราะวัยรุ่นแข็งแรงแค่เดินเล่นยังลำบาก” การสร้างกระเช้าซึ่งต้องมีสถานีรับส่งคน ไม่ว่าจะขนาดใด หรือจะอนุญาตให้พักค้างคืนได้หรือไม่ก็ตามอาจจะทำให้พื้นที่เล็กๆ ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพนี้พังครืนลงได้ง่ายๆ ซึ่งยังไม่นับปริมาณขยะและห้องน้ำที่ต้องสร้างเพิ่มเติมอีก   
     
ในทางกฏหมายดอยหลวงเชียงดาวยังอยู่ในฐานะเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซึ่ง มีจุดมุ่งหมายเพื่อการอนุรักษ์อย่างเข้มงวดเป็นหลัก ไม่ใช่การท่องเที่ยวการสร้างกระเช้าจึงอาจจะไม่ได้มีเพียงชุมชนเพียงอย่าง เดียวที่สามารถตัดสินใจได้ อย่างน้อยที่สุดกรมอุทยานแห่งชาติก็ต้องแก้ไข พรบ.พื้นที่อนุรักษ์เพื่อเปลี่ยนจุดประสงค์ไปสู่การสันทนาการซึ่งก็น่าจะ เป็นเรื่องใหญ่     
     
ส่วนเรื่องที่สำคัญที่สุด คือ เรื่องของงบประมาณที่อาจได้ผลกำไรไม่คุ้มทุน เพราะพื้นฐานนักท่องเที่ยวไทยนั้นชอบลองของใหม่ไปเรื่อยๆ หากวันหนึ่งธรรมชาติบนดอยหลวงเชียงดาวเปลี่ยนไป มีคนจำนวนมากแย่งกันกินกันใช้จนพื้นที่หมดความนิยมในมนต์คลังของการเดินทาง ใครจะรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติ วัฒนธรรมและงบประมาณที่สูญเสียไป จนคนท้องถิ่นบางท่านให้ความเห็นว่า ”อย่าให้เชียงดาวเหมือนเมืองปายแห่งที่สองเลย…เก็บไว้อย่างนี้จะยั่งยืนกว่า ไหม?”
       
หมวกสีเขียว: หมวกแห่งการสร้างสรรค์ หมวกสีเขียวใช้แสดงความคิดหรือไอเดียที่สร้างสรรค์และเป็นไปได้จริง กระเช้าไฟฟ้าในประเทศต้นแบบ เช่น สกีรีสอร์ทในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งคนใหญ่คนโตชอบไปดูงานอาจดูน่าสนใจในแง่การท่องเที่ยว แต่ก็เพราะทางขึ้นไม่มีอะไรสนใจนอกจากหิมะ การเดินเท้าก็ยากลำบากและเสี่ยงภัย กระเช้าไฟฟ้าจึงเป็นทั้งนวัตกรรมและสิ่งจำเป็นในการเดินทาง แต่ยอดเขามีชื่อหลายแห่งของโลกเข่น คิรีมานจาโรในแอฟริกา หิมาลัยในทิเบต เขาฟูจิในญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งโคตาคินาบาลูในมาเลย์เซียล้วนแล้วแต่มีเสน่ห์และสร้างรายได้ ด้วยการเดินเท้า    
     
จากประสบการณ์ส่วนตัวที่นายปรี๊ดเคยร่วมทีมสำรวจเส้นทางเดินเท้าขึ้น เขาลูกหนึ่งทางตะวันตกของไทย ซึ่งเป็นเขาหินปูนแห้งแล้ง ไม่มีร่มไม้ ทางเดินก็เสี่ยงเต็มไปด้วยหินผาชัน แต่มีทิวทัศน์ที่สวยอย่างน่าอัศจรรย์ หลังจากอุทยานพัฒนาข้อมูลพื้นฐานด้านทรัพยากร และเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเพียง 25 คนต่อวัน รายได้ขั้นต่ำของไกด์และลูกหาบท้องถิ่น จุดพักแรม และข้อบังคับการขนขยะกลับ และเปิดเป็นเส้นทางพิสูจน์ใจมากว่า 5 ปี ทุกวันนี้ยอดเขาแห่งนั้นมีนักเดินทางขึ้นไปเยี่ยมเยียนไม่ขาดสาย มีคิวจองล่วงหน้าเป็นเดือนๆ พร้อมกับรายได้ของชุมชนที่มีเข้ามาอย่างยั่งยืน  
     
ประสบการณ์ที่ว่ามานี้อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งของการจัดการที่ “ระบบ” ที่ไม่ต้องใช้ “การลงเงิน” แต่ต้องใช้ความจริงใจในการแก้ปัญหาและเปิดให้ชาวบ้านรอบพื้นที่มีส่วนร่วมใน การจัดการมากกว่าแค่การขอคะแนนเสียงเพื่อทำประชาพิจารณ์ปลดล็อคงบประมาณออก จากคลังเท่านั้น หรือหากมีเงินลงทุนและต้องการดึงนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักเข้ามาแทน การคิดวิธีขายแบบอื่นๆ ก็อาจเป็นไปได้ เช่น การทำบอลลลูนชมวิวที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยกว่า แต่ได้เห็นความสวยงามของธรรมชาติเช่นกัน ซึ่งวิธีนี้ได้มีบริษัทเอกชนเปิดกิจการในเมืองพุกามเพื่อชมทะเลเจดีย์ในราคา หัวละกว่าหมื่นบาทและแน่นอนว่ายอดจองถล่มทลายต้องติดต่อล่วงหน้าเป็นเดือนๆ สะท้อนให้เห็นว่า “วิธีคิด” และ “วิธีขาย” ให้มีผลกระทบกับธรรมชาติน้อยที่สุดอาจจะเป็นทางที่สร้างสรรค์กว่า?   
     
หมวกสีฟ้า: หมวกแห่งการตัดสินใจ เมื่อเสนอทุกภาพข้อสรุปจึงมาถึง หมวกสีฟ้าใช้เพื่อการตัดสินและควบคุมกระบวนการ หรืออาจพูดว่าเป็นบันได้ขั้นบนสุดก่อนเปิดประตูเดินออกไปแก้ปัญหา พร้อมกับข้อเท็จจริงและข้อดี ข้อเสียที่เก็บสะสม วิเคราะห์มาตามรายทางบนบันไดแต่ละขั้นหรือหมวกแต่ละใบ สำหรับข้อนี้นายปรี๊ดอยากเสนอให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้นั่งคุยกันอย่าง จริงจัง และแยกแยะข้อดีข้อเสียให้ดี หากเริ่มต้นด้วยการตรวจสอบและเริ่มพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่รายรอบดอยหลวงเชียงดาวก่อน เช่น วัดถ้ำเชียงดาว หรืออ่างน้ำร้อนแบบออนเซ็นบริเวณตีนดอยเชียงดาวที่มีนักท่องเที่ยวไทย และแบ็คแพ็คเกอร์ญี่ปุ่นมาเยือนเป็นประจำ พัฒนาเกสต์เฮาส์ให้สอดแทรกวิถีชีวิตของคนเชียงดาว พัฒนาเอกลักษณ์ของตลาดเล็กๆ กลางเมือง ลำธารใสที่ไหลจากยอดดอยที่นิ่งเรียบมีเสน่ห์แบบชาวบ้าน ไปจนถึงระบบไกด์และลูกหาบที่ไม่ผูกขาด อาจถือเป็นการเริ่มต้นพัฒนาที่ไม่ต้องใช้ทุนรอนมากมาย แต่ได้เปิดโอกาสให้ชุมชนได้ลองคิดได้ทำสิ่งใหม่...เผลอๆ สักวันหนึ่งอาจไม่ต้องรอกระเช้าราคาแพงที่ไม่รู้ว่าวันไหนจะได้เริ่มสร้าง คนรอบดอยหลวงอาจนั่งยิ้มนับเงินแบบยั่งยืนอย่างไม่รู้ตัว
 
นายปรี๊ดมักเปรียบการท่องเที่ยวเหมือนการเลือกซื้อรองเท้า ช่างบางคนเลือกใช้วัสดุราคาถูกตัดตามแฟชั่นประเดี่ยวประด๋าว คนซื้อใส่ไม่กี่ครั้งก็ต้องหาเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่ช่างบางคนใช้วัสดุราคาแพง รูปแบบเรียบง่าย แต่พิถีพิถัน รองเท้าจึงมีราคาแพงและผู้ใช้พอใจใส่ได้นานเป็นสิบปี สุดท้ายใครอยากเป็นช่างแบบไหนก็ต้องตัดสินใจกันให้ดี คิดกันให้รอบด้าน เพราะคนซื้อสมัยนี้เค้าช่างเลือก มีรสนิยมหลากหลาย และไม่ชอบให้ใครมาชักนำ ใครจะจับรองเท้าไปยัดเท้าใครคงไม่ยอมง่ายๆ แถมเมื่อไม่พอใจยังป่าวประกาศบอกเพื่อนฝูงให้ “แบน” ร้านท่านได้ภายในไม่กี่นาทีอีกด้วย

เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย     
ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์     
กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประการวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว  
ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...สะกิดต่อม คิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์