วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ขโมย


Sir Henry Wickham

Henry Wickham : ผู้ลอบขโมยยางพาราจากบราซิลข้ามโลก
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 มิถุนายน 2553 03:27 น.
(http://manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000083691)

สถิติการเกษตรกรรมของประเทศไทย ระบุว่า ในแต่ละปีประเทศไทยผลิตยางพาราได้ประมาณ 3 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็น 30% ของยางที่ผลิตได้จากทั่วโลก และ 10-12% ของยางที่ผลิตได้นี้ถูกนำมาใช้ในประเทศ โดยการแปรรูปเป็นยางรถยนต์ส่วนที่เหลือจะถูกส่งออก จึงทำเงินเข้าประเทศได้ถึง 140,000 ล้านบาท/ปี ข้อมูลนี้คงทำให้คนหลายคนตระหนักในความสำคัญของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่นำยางพาราจากมาเลเซียมาปลูกในประเทศไทย

แต่ถ้ามองย้อนไปให้ไกล เราก็จะพบว่า บุคคลที่เกษตรกรยางควรสำนึกในพระคุณด้วยคือ Henry Wickham ผู้ลอบนำยางพาราซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นของบราซิลออกนอกประเทศ ไปปลูกในประเทศเขตร้อน ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และยางเจริญงอกงามดี จนธุรกิจยางในบราซิลประสบภาวะล่มสลาย เพราะยางธรรมชาติได้เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนโลกอุตสาหกรรมจนทุกวันนี้

Henry Wickham เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1846 ที่เมือง Hampstead ในประเทศอังกฤษ บิดามีอาชีพเป็นทนายความ ซึ่งได้เสียชีวิตตั้งแต่ Wickham มีอายุ 7 ขวบ เมื่ออายุ 20 ปี Wickham ได้เดินทางไป Nicaragua ในอเมริกากลาง (และได้กลับไปเยือนประเทศในแถบละตินอเมริกาหลายครั้ง) เมื่อเดินทางกลับถึงอังกฤษ ก็ได้เข้าพิธีสมรสกับ Violet Case Carter ผู้มีบิดาเป็นเจ้าของโรงพิมพ์ Wickham คิดวางแผนร่ำรวยด้วยการนำต้นไม้ หรือพืชจากประเทศหนึ่งไปปลูกในต่างแดน จึงทดลองนำต้นกาแฟ กล้วย มะละกอ ฯลฯ จาก Nicaragua, Venezuela, Brasil, Belize ไป Australia, Papua New Guinea แต่ได้พบว่าพืชทดลองที่ลอบนำไปทุกชนิดไม่เจริญเติบโต นอกจากต้นยาง (Hevea brasiliensy) ที่ Wickham ได้นำออกจาก Santarem ในบราซิลในปี 1876 เพื่อเอาไปให้ Joseph Dalton Hooker ที่ลอนดอนผู้ได้สัญญาว่าจะจ่ายเงินให้ Wickham 20 ปอนด์ ถ้า Wickham นำเมล็ดยางมาได้ 1,000 เมล็ด แต่เมื่อ Wickham ไม่เคยประสบความสำเร็จใดๆ ในการนำพืชต่างแดนมาปลูก บรรดาผู้บริหารที่สวนพฤกษศาสตร์ Kew จึงไม่เชื่อว่า ต้นยางของ Wickham จะขึ้นได้ดี ดังนั้นจึงไม่ได้สนับสนุนให้มีการนำยางไปปลูกในดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ จนกระทั่งเวลาผ่านไปอีก 20 ปี

ในปี 1876 ที่ Wickham ลอบขโมยยางออกจากบราซิลนั้น อังกฤษมีสมเด็จพระราชินี Victoria เป็นประมุข โดยมีอาณานิคมอยู่ทั่วโลก จึงสนับสนุนให้นักสำรวจ และนักผจญภัยต่างๆ ออกแสวงหาพืช และสัตว์แปลกๆ จากต่างประเทศมาปลูกและเลี้ยงในอังกฤษ โดยเฉพาะพืช ซึ่งจะนำมาปลูกทดลองที่สวนพฤกษศาสตร์ Kew และถ้าพบว่าพืชใดขึ้นได้ดี ในประเทศอาณานิคมใด ก็จะสนับสนุนให้คนพื้นเมืองปลูกพืชนั้นๆ เพื่อส่งออกขายนำเงินเข้าประเทศอังกฤษ สำหรับบราซิล ซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส ไม่มีกฎหมายห้ามการนำพืชออกนอกประเทศ ถึงกระนั้น Wickham ก็จำต้องใช้กลอุบายหลอกตำรวจบราซิลว่า สิ่งที่ตนกำลังนำออกจากประเทศเป็นพืชตัวอย่างที่จะเอาไปปลูกในสวนพฤกษศาสตร์ Kew บรรดาเจ้าหน้าที่บราซิลที่ตกหลุมพรางจึงอนุญาตด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ว่าตนกำลังทำลายเศรษฐกิจของชาติอย่างถาวร

เพราะบราซิลอยู่ในเขตร้อน ดังนั้นนักพฤกษศาสตร์อังกฤษ จึงส่งกล้ายางไปทดลองปลูกที่อินเดีย ลังกา และสิงคโปร์ และก็ได้พบว่า ยางเจริญเติบโตดีมาก จึงสนับสนุนให้มีการปลูกอย่างขนานใหญ่ในปี 1985 Henry Nicholas Ridley ก็ได้นำเมล็ดยางมาปลูกในมาเลเซีย และอีก 4 ปีต่อมา พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ผู้เป็นเจ้าเมืองตรัง ก็ได้นำยางมาปลูกที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นครั้งแรก

ก่อนที่ Wickham จะขโมยยาง สวนยางพาราไม่มีในโลกและ 98% ของยางที่ผลิตได้มาจากบราซิล แต่เมื่อยางงอกงามในเอเชีย เมื่อถึงปี 1919 อุตสาหกรรมยางในบราซิลก็ตายสนิท ซึ่งมีผลทำให้การค้าทาสในบราซิลหยุดตามไปด้วย และสิงคโปร์ได้กลายเป็นศูนย์กลางการค้ายางของโลกแทน เพราะ 75% ของยางที่ผลิตได้ในโลกมาจากดินแดนที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ยางจึงทำให้อังกฤษมีบทบาทมากในโลกอุตสาหกรรม แต่กว่าอังกฤษจะยกย่อง Wickham ให้เป็นท่าน Sir ก็ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตเพียงเล็กน้อย (วันที่ 27 กันยายน 1928) ทั้งนี้คงเพราะไม่ยอมรับความสามารถด้านเกษตรกรรมของ Wickham สืบเนื่องจากที่ Wickham ไม่มีปริญญาและไม่มีความสำเร็จด้านเกษตรกรรมเลย

นอกจากนี้ Wickham ยังวางตัวเสมือนว่าตนเป็นบุคคลสำคัญของโลก จนทำให้นักวิชาการและผู้คนไม่พอใจ ไม่เพียงแต่คนอังกฤษเท่านั้นที่ไม่รู้สึกสุข คนบราซิลเองก็ตราหน้า Wickham ว่าเป็นมหาโจรที่ปล้นชาติ แต่ในที่สุดเมื่ออังกฤษได้ยางมาปลูกในเอเชีย จนสามารถสนองความต้องการยางของโลกได้ถึง 95% อังกฤษจึงสามารถเป็นมหาอำนาจได้ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง คุณงามความดีของ Wickham ได้ทำให้สมเด็จพระราชินี Victoria โปรดเกล้าฯ ให้ Wickham วัย 74 ปี ดำรงตำแหน่ง Sir ซึ่งขณะนั้นยากจนมาก และไร้ Violet ผู้เป็นภรรยามายินดีเคียงข้าง เพราะเธอได้เสียชีวิตไปก่อนนั้นนานแล้ว

ในด้านชีวิตส่วนตัว ชีวิตของ Wickham เป็นชีวิตที่ล้มเหลว เป็นคนมีความทะเยอทะยาน และความกระหายอำนาจรวมถึงต้องการความร่ำรวย ความต้องการเหล่านี้ได้ทำลายชีวิตครอบครัวและตนเองอย่างสมบูรณ์ เพราะ Wickham เป็นคนที่ไม่รักใครจริง ทั้งๆ ที่ภรรยารักเขามาก และติดตามเขาไปทุกหนทุกแห่ง แต่ความมุ่งมั่นแต่จะเอาชื่อเสียงทำให้เขาทอดทิ้งเธอให้อยู่คนเดียวบนเกาะ New Guinea ที่มีมนุษย์กินคนเป็นเวลานานถึง 19 วัน ดังนั้นเมื่อเธอหลุดรอดออกมาได้และกลับถึงอังกฤษ เธอก็ได้หย่าจากเขาทันที

เมื่อถูกหย่า Wickham กลายเป็นคนมีอารมณ์ปรวนแปรมาก และไม่มีเพื่อน ครั้นตกงานและ
ล้มเจ็บ เขาเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว และตระหนักก่อนสิ้นใจว่า ตลอดชีวิตมีงานชิ้นเดียวที่ทำได้สำเร็จดี
นั่นคือ การขโมยยางออกจากบราซิล

ตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา โลกมีสนธิสัญญาเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ Cenvention on Biological Diversity ซึ่งมีใจความว่า นักวิทยาศาสตร์จะต้องได้รับอนุญาตจากประเทศเจ้าของบ้านเวลาจะเข้าไปเก็บพืช และสัตว์ตัวอย่างก่อน และให้นำผลประโยชน์ที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นมาให้แก่คนท้องถิ่นด้วย

คุณหาอ่านเรื่องของ Wickham กับยางพารา เพิ่มเติมได้จาก
The Thief at the End of the World : Henry Wickham’s adventures โดย Joc Jackson ที่จัดพิมพ์โดย Viking ปี 2008 ราคา 27.95 ดอลลาร์

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น