วันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2553

โจรยุค 2010

เปิดหน้าหนังสือพิมพ์ตอน นี้ ยิ่งอ่านก็ยิ่งหดหู่ใจ เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็เห็นแต่ข่าวโจรขโมย ชิงทรัพย์ ลักทรัพย์เต็มไปหมด จนบางครั้งก็อดรู้สึกหดหู่ใจไม่ได้ว่า สังคมตอนนี้คงถึงเวลาที่จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองซะแล้ว จากสยามเมืองยิ้ม ก็กลายมาเป็นแดนมิคสัญญีแห่งสุวรรณภูมิ ที่จะไปทางไหนก็ต้องระมัดระวางตัวอยู่ตลอดเวลาเพราะหาความปลอดภัยในชีวิตไม่ ได้ เอาง่ายๆ แค่ครึ่งปี เมืองไทยก็มีสถิติคดีอาชญากรรมประเภทปล้นชิงวิ่งทรัพย์ จารกรรมทรัพย์สินมากถึงเกือบ 60,000 คดีแล้ว

จนถึงขั้นที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้รองนายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ รีบไปติดตามแก้ไขปัญหาอาชญากรรมอย่างด่วน เพราะหากปล่อยไว้นานจะเป็นผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาลได้
แต่หากมาวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่เกิดขึ้นแล้ว แน่นอนหลายๆ คนคงโทษว่าเรื่องนี้มาจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ถ้าสังเกตดูจะพบว่ามีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ ก็คือ ทุกวันนี้เหล่าลูกหลานของอาร์แซน ลูแปง หามีแต่โจรกระจอกที่ใช้วิธีปล้นแบบพื้นๆ เท่านั้น แต่ยังมีพวกที่เรียกตัวเองว่า 'เหนือชั้น' 'เหยียบเมฆ' 'เกินคาดเดา' ซึ่งมีกลวิธีที่พลิกแพลงแยบคายจนบรรดาผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ต่างหัวหมุนไป ตามๆ กัน

ที่สำคัญ อาชญากรระดับพระกาฬนี้ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แถมยังพกกลยุทธ์ใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา งานนี้ก็เลยขอรวบรวมเทคนิคแปลกๆ ที่เหล่าโจรไทยยุค 2010 นำมาใช้ พร้อมกับวิเคราะห์กันแบบถึงกึ๋นไปเลยว่า อะไรคือแรงบันดาลที่โจรเหล่านี้พัฒนาตัวเองจาก 'นกกระจอก' มาเป็น 'พญาอินทรี' ได้

10 กลเม็ดเด็ดดวงของบรรดา 'พญาโจร'

เปิดฉากมาขอเริ่มด้วยการเล่าถึงกลวิธีเหนือเมฆ กลเม็ดแปลกๆ ขำๆ ที่ไม่มีใครคาดคิด ที่เหล่าคุณโจรเหล่านี้ได้นำมาใช้ โดยคัดสรรกลเม็ดร่วม 100 วิธีจากเหล่าอาชญากรทั้งไทยทั้งเทศ ออกมาเป็น 10 อันดับที่สุดยอดจริงๆ แน่นอนว่างานนี้ จะแปลก จะพิสดาร และอึ้ง ทึ่ง เสียวยังไง ไปพิสูจน์กันได้เลย

1. ยกไปทั้ง 'ตู้'


ข่าวโจรยกเค้าตู้เอทีเอ็มธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่ จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2553 แล้วหนีไปพร้อมเงินกว่า 4 ล้าน สุดท้ายก็ถูกจับ

ครั้งนี้ไม่ใช่การเจาะตู้แล้วฉกเงินธรรมดาๆ เพราะเขาใช้วิธียกไปทั้งตู้ โดยเริ่มจากตัดวงจรตู้เอทีเอ็ม เลาะแผ่นปูน ย้ายตู้ด้วยการใช้แผ่นไม้ผ่อนแรง แล้วยกขึ้นรถกระบะไป ใช้เวลาปล้นเพียง 45 นาทีเท่านั้น

2. 'แก๊ส' ตัด 'เซฟ'

ช่วงวันแม่ที่ผ่านมา โจรกลุ่มหนึ่งคิดการใหญ่ขโมยทองจากตู้เซฟหลังร้านทองใน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กว่าที่เจ้าของจะรู้ตัวก็ล่วงเลยมาถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2553 คนร้ายกวาดทองไปได้กว่า 500 บาท วิธีการก็ไม่ธรรมดา อาศัยช่วงที่เจ้าของร้านไม่อยู่เข้าไปหลังร้านใช้แก๊สตัดลูกกรงเหล็ก ใช้เสื่อกับผ้าห่มคลุมปิดบังแสงไฟระหว่างที่ใช้แก๊สตัดลูกกรงไม่ให้ประกายไฟ ออกไปด้านนอก เรียกว่าทำการบ้านมาอย่างดีและมีความรู้เรื่องเครื่องมือช่าง จนบัดนี้ก็ยังตามจับไม่ได้

3. ปล้นกลางถนน

บนท้องถนนใช่ว่าจะมีแต่อุบัติเหตุให้ต้องระวังเท่านั้น แต่เรื่องปล้นจี้ก็ต้องระวังเช่นกัน

การปล้นทองคำแท่งอย่างอุกอาจบนถนนบางนา-ตราดที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่ แล้ว (22 มิถุนายน 2552) เป็นตัวอย่างได้ดี คนร้ายขับรถปาดหน้าแล้วลงมาปล้นกันบนถนนกลางวันแสกๆ ทุบกระจก จับคนขับใส่กุญแจมือ หิ้วทองคำแท่งน้ำหนัก 15 กิโลกรัม ชิ่งหนีไปอย่างลอยนวล

4. โรยตัวประหนึ่ง 'อีธาน ฮันต์'

วิธีการที่ต้องบอกว่ามาจากในหนังเรื่อง ‘มิชชัน อิมพอสสิเบิล’ ก็คืองานนี้

เหตุการณ์เกิดขึ้นในวันที่ 6 กันยายน 2552 ที่จังหวัดเชียงใหม่ คนร้ายโรยตัวลงมาจากเพดาน เข้าปล้นร้านทองและร้านขายโทรศัพท์มือถือ ปฏิบัติการเสร็จก็ดึงตัวเองกลับขึ้นไปบนหลังคาประหนึ่งเป็นอีธาน ฮันต์ แต่สุดท้ายก็ถูกจับและรับสารภาพว่าได้ดูหนังฝรั่งจึงเกิดแรงบันดาลใจแล้วลอง เอาวิธีนี้มาใช้ดู

5. ปล้นแบงก์ 1 นาที

ใครจะเชื่อว่าการปล้นแบงก์จะเกิดขึ้นและจบเร็วภายใน 1 นาที

แต่มันก็เกิดขึ้นแล้วในเมืองไทย กับข่าวครึกโครมอาทิตย์ที่แล้ว (1 กันยายน 2553) คนร้ายถือปืนเข้าปล้นธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาถนนกาญจนาภิเษก ใช้ปืนจ่อ บุกปล้น กวาดเงินไปกว่า 7 แสนบาท แล้วขี่มอเตอร์ไซค์ซิ่งจากไปแบบไร้ร่องรอย เร็วยิ่งกว่าครั้งไหนๆ ที่เคยได้ยินข่าว

6. 'ปลอม' ก็ปล้นได้

บรรดาของเล่นเลียนแบบทั้งหลายนับวันจะเหมือนจริง แต่แล้วก็มีคนเอาไปใช้ปล้นจริงๆ เสียด้วย
วันที่ 27 สิงหาคม 2547 หนุ่มรายหนึ่งแต่งตัวสะดุดตาด้วยการโพกผ้า ติดหนวดปลอม ควงปืน พร้อมระเบิด และชุดเกราะปลอม เข้าปล้นธนาคาร กวาดเงินไปเกือบล้าน

แต่ไปไม่รอด เพราะดันไปเจอกับตำรวจที่มาดักซุ่มจับแก๊งค้ายาบริเวณนั้นเข้าพอดี

7. 'หลินปิง' ฟีเวอร์

วิธีการปล้นครั้งนี้ไม่ได้แปลกอะไร ใช้ปืนจี้กันซึ่งๆ หน้าเลย แต่ของที่โจรอยากได้กลับเป็นตุ๊กตาหลินปิง

เหตุการณ์เกิดขึ้นในปั๊มน้ำมันเชลล์ บริเวณถนนลาดพร้าว คนร้ายขับรถมอเตอร์ไซค์เข้ามาเติมน้ำมัน แล้วกลับเข้ามาใหม่เอาปืนจี้เด็กปั๊ม ปล้นเอาตุ๊กตาหมีราคา 199 บาทแล้วจากไป คาดว่าเอาไปให้ลูกเล่นเพราะช่วงนั้น (25 ตุลาคม 2552) เป็นช่วงหลินปิงฟีเวอร์พอดี

8. ขับเฮลิคอปเตอร์มาปล้น

ยิ่งกว่าหนัง ยิ่งกว่าการโรยตัว การปล้นที่ไม่มีผู้ใดคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น การปล้นด้วยเฮลิคอปเตอร์ในสวีเดน

แก๊งโจรระดับมืออาชีพของมืออาชีพนี้ออกปล้นสะท้านเมืองเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2552 เมื่อแก๊งโจรลอบขโมยเฮลิคอปเตอร์ แล้วใช้ร่อนลงจอดบนหลังคาของบริษัทด้านการรักษาความปลอดภัยที่ใหญ่ที่สุดใน สวีเดน ก่อนจะขโมยเงินสดในคลังที่เตรียมจะนำส่งให้ธนาคาร จากนั้นก็บินหนีไปในที่สุด หายต๋อม ตามไม่เจอ

9. แต่งเพี้ยนมาปล้น

ไม่ว่าจะเป็นคนสวมใส่ชุดที่ทำมาจากกิ่งไม้ ชุดตัวตลก หรือกระทั่งเป็นดาร์กเวเดอร์จากสตาร์วอร์สแล้วเข้าปล้น ล้วนเกิดขึ้นจริงทั้งสิ้น

ในอเมริกาเกิดเหตุโจรใส่ชุดประหลาดๆ บุกเข้าปล้นธนาคารมาตั้งแต่ปี 2550 เรียกว่าเป็นการพรางไม่ให้คนจำได้ แต่สุดท้ายมันก็ยากที่จะหลบหนี เพราะที่แต่งๆ มามันเด่นกว่าคนเดินถนนตั้งเยอะ

10. แกล้งป่วยแล้วปล้น

เห็นเจ็บออดๆ แอดๆ ก็อย่าได้วางใจ เพราะอาจจะเป็นโจรก็ได้

เรื่องราวการปล้นนี้เกิดขึ้นที่ห้างในอเมริกา เมื่อลูกค้ารายหนึ่งเข้ามส ในร้านด้วยใบหน้าที่ถูกพันผ้าพันแผลไว้เต็ม แล้วยังใช้ผ้าปิดปากคาดทับอีกชั้น

พนักงานจึงเข้าไปให้ความช่วยเหลือ แต่แล้วกลับเป็นการปล้น ปล้นเสร็จก็ขึ้นรถขับหนีไป แต่แล้วก็จนมุมพร้อมกองผ้าพันแผล

ใครว่าเกิดเป็น 'โจร' แล้วจะโง่?

เห็นกลเม็ดเด็ดพรายที่บรรดาเอาชญากรเหล่านี้ใช้ไปแล้ว คราวนี้ก็หันมาวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จกับงานที่ทำกัน บ้างดีกว่า

แน่นอนว่า ของแบบนี้คงไม่ได้ผลิตออกมาเป็นพ็อกเกตบุ๊กขายตามร้านหนังสือ แต่การจะเป็นโจรที่ทรงอิทธิฤทธิ์ได้นั้นก็ต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับยุค เข้ากับสมัย ไม่ว่าเทคนิค ลีลา และวิธีการ พูดง่ายๆ ก็คือ 'ห้ามโง่!!' เพราะถ้าขืนใช้วิธีเดิมๆ ซ้ำๆ ย่อมไม่มีทางรอดสายตาตำรวจอย่างแน่นอน
พิสูจน์ได้จากคำพูดของ พ.ต.ท.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ รอง ผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม (รอง ผกก.1บก.ป.) ที่เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของโจรยุคนี้ว่า จุดสำคัญอยู่ที่รูปแบบและการวางกลยุทธ์

เพราะหากเป็นสมัยก่อน การโจรกรรมแต่ละครั้งนั้นไม่มีความซับซ้อนหรือใช้ตัวช่วยอะไรมากมายนัก อาจมีคนดูต้นทางคนหนึ่ง และก็จะใช้คนจำนวนมากในออกปล้นแต่ละครั้งเพื่อไม่ให้เหยื่อขัดขืน และหากเกิดการขัดขืนเมื่อใดอาชญากรเหล่านี้ก็จะใช้กำลังประทุษร้าย หรือลงมือด้วยอาวุธ เช่น มีดหรือปืน

แต่พอมาถึงในยุคนี้ แม้จะมีการใช้กำลังคนเยอะเหมือนเดิม แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและกระบวนการทำงานให้รัดกุมและซับซ้อนมากยิ่ง ขึ้น เพื่อให้ยากต่อการสืบสวนหรือจับกุม

“การทำงานเป็นแก๊งทุกวันนี้จะมีการ แบ่งงานกันชัดเจนมากขึ้น เช่น คนไหนทำหน้าที่อะไร รวมทั้งนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย เช่น สมัยก่อนการปล้นเอทีเอ็มก็จะปล้นเฉพาะคนที่เอาเงินไปใส่เท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้เป็นการเช่ารถมายกตู้เอทีเอ็มได้ทั้งตู้ มีงัดแงะโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ และการปล้นแบบนี้เมื่อไม่มีพยานบุคคล การจับกุมสืบสวนติดตามก็จะเป็นไปได้โดยยาก”

'คุก' ตักศิลาแห่งวิชาอาชญากรรม

นอกจากความฉลาดจะต้องพอตัวแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โจรเหล่านี้ประสบความสำเร็จ ก็คือมีวิชาและครูที่ดี เพราะหากสังเกตจะพบว่าโจรเหล่านี้มักเป็นมืออาชีพ ประสบการณ์โชกโชน จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะต้องเคยผ่านคุกผ่านตะรางกันมาบ้าง ยิ่งจากคำสำทับของ พ.ต.ท.ธีรเดช ซึ่งยืนยันด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง!!!

“การที่พวกเขาได้เข้าไปอยู่ร่วมกัน ก็เลยทำให้คุกเหมือนเป็นโลกของเขาที่มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ถ่ายทอดวิชาต่างๆ ที่ได้ประสบพบเจอมาก่อนจะติดคุก อย่างคนร้ายที่ถูกจับด้วยคดีเล็กๆ เมื่อเข้าไปอยู่ในคุก มีโอกาสได้รู้จักเพื่อนหรือรุ่นพี่ที่ถูกจับในคดีอื่นๆ ก็จะมีการคุยแลกเปลี่ยนกัน คนที่ไม่เคยถูกจับคดีงัดเซฟ พอออกมาก็มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องการงัดเซฟ บางครั้งก็จะมีการนัดหมายเจอกันแล้วออกทำงานร่วมกัน”

พูดง่ายๆ ก็คือ เวลาที่อยู่ในคุกก็เปรียบเสมือนเป็นภาคทฤษฎีซึ่งมีการอบรมแบบติวเข้ม รวมทั้งสร้างความสนิทชิดเชื้อระหว่างอาชญากรแต่ละคน และเมื่อออกไปแล้วก็จะเหมือนเข้าสู่โลกของปฏิบัติ ซึ่งพวกเขาก็จะนำความรู้ที่ได้มาลงสนามจริง โดยจุดสังเกตหนึ่งของโจรลักษณะนี้ก็คือ เป็นพวกที่อยู่ในเรือนจำเดียวกัน ปีเดียวกัน และออกมาจากคุกในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน

'สื่อ' ผู้ทรงอิทธิพลตัวจริง


อีกเรื่องที่ละเลยไม่ได้เป็นอันขาด ก็คือ 'สื่อ' เพราะยุคนี้ไม่ว่าใครๆ ต่างก็ยกให้สื่อเป็นผู้ทรงอิทธิพล ไม่ว่าจะกิน จะนอน จะนั่ง จะเดิน หรือจะเสพอะไร ต่างก็มีสื่อเป็นสื่อบันดาลใจหมด

ยิ่งกับเรื่องอาชญากรรมแล้วยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์ ละคร ภาพยนตร์ เว็บไซต์ หนังสือพิมพ์ หรือวิทยุ นั้นถือเป็นกระบอกเสียงชั้นดีที่เผยแพร่เรื่องอาชญากรรม

เอาง่ายๆ อย่างหนังฮอลลีวูด ก็มีตั้งหลายเรื่องแล้วที่นำเสนอกระบวนการปล้นแบบเหนือเมฆ ไม่ว่าจะเป็น ‘Italian Job’, ‘Ocean's Eleven’, ‘Gone in 60 Second’ หรือ ‘Once A Thief’ แถมในวงการอินเทอร์เน็ตเองก็มีเรื่องแบบนี้อยู่ดาษดื่น ไม่เชื่อลองค้นดูก็ได้ รับรองไม่ถึง 5 นาทีเจอหมด ตั้งแต่วิธีเข้าบ้านจนถึงงัดตู้เซฟ สะเดาะประตูด้วยบัตรเครดิต วิธีเปิดล็อกตู้เซฟแบบค่อยๆ หมุนหาเลขเหมือนอย่างในหนัง หรือแม้กระทั่งวิธีพังประตูยังไงไม่ให้เจ็บตัวจนเกินไป เรียกว่าเสร็จสิ้นกระบวนการโจรในเว็บไซต์เดียว แถมแต่ละวิธีการก็อธิบายอย่างละเอียด พร้อมรูปภาพประกอบแบบละเอียดยิบ ราวกับสอนวิธีทำอาหารยังไงยังนั้น

จากเรื่องนี้เอง ผศ.ดร.พรทิพย์ เย็นจะบก รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของสื่อนั้นเปรียบเสมือนกับดาบ 2 คม ซึ่งส่งผลทั้งด้านดีด้านลบ เพราะทันทีที่คนรับสื่อก็จะก่อให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งแน่นอนว่าคนทำสื่อเองก็คงมุ่งหวังในแง่ดีเป็นหลัก แต่ปัญหาก็คือ สื่อจำกัดผู้ชมไม่ได้ ทุกคนต่างก็รับสื่อได้หมด เพราะฉะนั้นจึงเป็นช่องทางให้คนที่มีเจตนาไม่ดีนำสื่อไปใช้ในทางที่เป็น อันตราย

“บางทีเวลาดูหนังก็จะมีการล่อซื้อโดย ตำรวจ ก็จะทำให้เรารู้ว่าเขาใช้วิธีการอย่างไรในการจับ ล่อซื้ออย่างไร จับแบบไหนได้บ้าง อาจจะเป็นการซ่อนกล้องเพื่อแอบถ่าย เรื่องแบบนี้คนธรรมดาดูยังรู้ แล้วพวกอาชญากรดูจะไม่รู้ได้อย่างไร พอเขาเห็นก็ต้องหาวิธีป้องกันตัวเอง”

ที่สำคัญข้ออ้างอย่างหนึ่งที่สื่อมักนำมาใช้ก็คือ 'โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม' แต่ปัญหาก็คือ การใช้ข้อความแบบนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่ได้รู้เท่าทันสื่อ เพราะไม่ได้ใช้วิจารณญาณในการชม แต่ใช้อารมณ์ในการดูเป็นหลัก แล้วพอเกิดอารมณ์ร่วมถึงค่อยเกิดความคิดต่อไป

“สังเกตได้เลย รายการประเภทสารคดีมักจะทำให้ดูคล้ายละครเพื่อให้เกิดอารมณ์ เกิดการติดตาม แต่ปัญหาคือจะนำเสนออย่างไรไม่ให้เกิดปัญหา หลักๆ ก็ต้องใช้วิจารณญาณของคนทำก่อน จะมาปัดความรับผิดชอบให้คนดูไม่ได้ แน่นอนถามว่าคนดูได้ประโยชน์ แต่อย่าลืมว่าโจรก็ได้ด้วย”

อีกจุดหนึ่งที่ ผศ.ดร.พรทิพย์ชี้ให้เห็นก็คือ การสอดแทรกคติของสื่อบางทีก็ลึกเกินไป จนผู้ชมไม่สังเกต เช่นละครเรื่อง 'ตี๋ใหญ่' ที่แม้จุดจบของคนที่เลือกใช้ชีวิตอาชญากรว่าคือความตายก็ตาม แต่กว่าเรื่องจะดำเนินถึงจุดนั้นได้ก็ไม่ทันการณ์เสียแล้ว เพราะคนดูจะรู้สึกเอาใจช่วยตัวละครนำ ไม่อยากให้ถูกตำรวจจับได้ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ค่านิยมที่ว่า การเป็นอาชญากรไม่ใช่สิ่งที่ผิดก็เป็นได้

'ตำรวจ' ต้องตามให้ทัน

จากเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เองก็คงถึงเวลาแล้วที่จะต้องร่วมกันหาทาง แก้ไขปัญหา และจุดหนึ่งที่ถือเป็นหัวใจที่สุด ก็คือการใช้กฎหมายและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดย ผศ.ดร.พรทิพย์ชี้ว่าทุกวันนี้เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องพยายามตามอาชญากรให้ทัน มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นในแง่เทคนิค หรือเทคโนโลยี

“ตำรวจต้องคิดก่อนโจร ต้องตามให้ทัน คือทุกวันนี้อาชญากรเขาไปไกลแล้ว ทำเสร็จก็ลอยตัว แต่ตัวรัฐบาลตัวกฎหมายเองก็ยังตามหลังอยู่”

ขณะที่ในฟากฝั่งตำรวจเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดย พ.ต.ท.ธีรเดชอธิบายว่า แม้โจรจะพัฒนาฝีมือ แต่ตำรวจเองก็ใช่จะหยุดนิ่ง เพราะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเช่นเดียวกัน จากเดิมที่จะใช้แค่สายสืบ และจะทำงานกันแบบเงียบๆ ไม่มีการเผยแพร่ ไม่มีการประชาสัมพันธ์

แต่ปัจจุบันก็พยายามให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น มีการตั้งรางวัลนำจับ ใช้ภาพสเกต ตั้งกล้องวงจรปิด รวมทั้งเผยแพร่แก่สื่อมวลชน ซึ่งตอนนี้ก็มีหลายคดีที่ประชาชนแจ้งเข้ามาจนสามารถติดตามจับกุมผู้กระทำผิด ได้เป็นผลสำเร็จ
………

แม้โจรทุกวันนี้จะเหนือชั้น และทำงานแบบไร้ร่องรอยมากขึ้นแค่ไหนก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนได้จากเรื่องนี้ก็คือ ชีวิตคนเรานั้นเต็มไปด้วยอันตรายและเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมากมาย เพราะฉะนั้นทางที่ดีก็คือ การระมัดระวังและมีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ เพราะหากประมาท ไม่แน่คุณอาจจะตกเป็น 'เหยื่อ' โดยไม่รู้ตัวก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น