วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2553

หลวงพ่อทองคำ

ถอดรหัสธรรม "หลวงพ่อทองคำ" วัดไตรมิตร พระพุทธรูปทองคำใหญ่ที่สุดในโลก
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 30 สิงหาคม 2553 17:44 น.

หลวงพ่อทองคำ วัดไตรมิตรกับพุทธสรีระอันงดงาม
ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปกี่ยุคสมัย ศาสนาพุทธกับสังคมไทยนั้นเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมาโดยตลอด ไม่เพียงแค่หลักธรรมที่ช่วยให้ปุถุชนทั่วไปได้เรียนรู้หลักการดำเนินชีวิต แล้ว พุทธศาสนายังได้สอดแทรกความงามของศิลปะในแขนงต่างๆ เอาไว้เป็นเครื่องจรรโลงจิตใจได้อีกรูปแบบหนึ่ง หรือที่เรียกกันว่าความงามทางพุทธศิลป์ อาทิ พระพุทธรูปของไทยเรานั้นถือว่าเป็นความสวยงามทางพุทธศิลป์ที่อยู่คู่กับเรา มาตั้งแต่จำความได้ เพราะพระพุทธรูปนั้นคือตัวแทนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เรากราบไหว้ กันอยู่เป็นประจำ

ข้อเท็จจริงจำนวนหนึ่งจาก อาจารย์ สุรศักดิ์ เจริญวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญในด้านศิลปะไทย นั้นกล่าวว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากมายที่เดินทางมาประเทศไทยเพื่อมาดู "โลหะรูปมนุษย์"

โลหะรูปมนุษย์ ในความหมายของพวกเขา(ชาวต่างชาติ)คือพระพุทธรูปนั่นเอง ซึ่งไม่น่าเชื่อว่านอกจากแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและสถาปัตยกรรมแบบไทยๆ ที่ได้รับความสนใจและ พุทธศิลป์ในบ้านเรานั้นกลับเป็นที่นิยมอย่างมาก เพราะฝรั่งเขาบอกกันว่าเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของเมืองไทยที่ไม่เหมือนใคร

พระพุทธรูปในเมืองไทยนั้นมีการสร้างมาช้านาน หลายยุคหลายสมัย และมีอยู่มากมาย แทบทุกอณูประเทศ สำหรับ"พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร" หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "หลวงพ่อทองคำ" ที่วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร นั้นเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์สวยงามที่ได้รับการกล่าวขานถึงไม่น้อยเลย

หลวงพ่อทองคำ พระพุทธรูปทองคำใหญ่ที่สุดในโลก
นอกจากนี้ในหนังสือท่องเที่ยวของชาวต่างชาติจำนวนมากยังได้บรรจุหลวง พ่อทองไว้เป็นหนึ่งในสิ่งที่ต้องมาชมให้ได้เมื่อมากรุงเทพฯหรือแบงคอก หลังจากที่ The Guinness Book of World Record ได้จดบันทึกไว้ว่าเป็นเป็นพระพุทธรูปทองคำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีน้ำหนักกว่า 5 ตัน และมีมูลค่ากว่า 1,800 ล้านบาท

อย่างไรก็ดีเรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องปกติของชาวไทยที่พบเห็นพระพุทธ รูปสวยงามอยู่เป็นประจำ แต่สำหรับหลวงพ่อทองคำนั้นมีสิ่งที่น่าค้นหามากกว่าแค่ความงามภายนอก จนทำให้เหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านพระพุทธรูปกลุ่มหนึ่งมาตั้งวง เสวนาวิชาการ "หลวงพ่อทองคำ...ถอดรหัสพุทธศิลป์สู่พุทธธรรมขึ้น" เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ของหลวงพ่อทองคำที่ถูกบันทึกไว้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้นน่าสนใจ ทั้งเรื่องแรงศรัทธา ความชาญฉลาดทางสถาปัตยกรรม และเรื่องของปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นต่างๆ ก่อนจะมาเป็นหลวงพ่อทองคำอย่างในทุกวันนี้

สังคมเจริญ ศิลปกรรมรุ่งเรือง

ถ้าจะกล่าวถึงที่มาของหลวงพ่อทองคำนี้ อาจต้องท้าวความกลับไปยังช่วงสมัยสุโขทัย ซึ่งอาจารย์ สุรศักดิ์ ได้กล่าวถึงที่มาของหลวงพ่อทองคำไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า

หลวงพ่อทองคำ มีความเป็นไปได้อย่างมากที่น่าจะสร้างขึ้นในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง ถ้าเปรียบเทียบกับลักษณะของพระพุทธรูปในสมัยนั้น ในสมัยก่อนการจะสร้างพระพุทธรูปทองคำล้วนนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะว่าหลวงพ่อทองคำนั้นสร้างด้วยทองคำบริสุทธิ์ที่เรียกกันว่า "ทองเนื้อเจ็ด น้ำสองขา" ตามมาตราทองคำของไทยโบราณ

พระพักตร รูปไข่กลมรี ให้ความรู้สึกสงบ
ทองเนื้อเจ็ด น้ำสองขา เป็นทองคำที่มีค่าของเนื้อทองรองจากทองนพคุณหรือทองเนื้อเก้า ซึ่งมีมูลค่าและราคามากมายมหาศาลแม้เทียบกับในปัจจุบัน นั่นแสดงถึงความเจริญในด้านสังคมของสุโขทัยและว่ากันว่าเป็นยุคที่รุ่งเรือง ที่สุดในด้านศิลปกรรม โดยอ้างอิงจากหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่ได้จารึกเรื่องราวบางส่วนไว้ว่า "กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันงาม" และมีความเป็นไปได้อย่างมากที่พระพุทธรูปทองที่กล่าวถึงอาจหมายถึงหลวงพ่อทองคำองค์นี้ก็เป็นได้

นอกจากนี้อาจารย์สุรศักดิ์ ยังสะท้อนให้เห็นความสำคัญของพุทธลักษณะของหลวงพ่อทองคำรวมถึงพระพุทธรูป อื่นๆ ที่ถูกสร้างขึ้นในยุคเดียวกันว่า การสร้างพระพุทธรูปยุคสุโขทัยนั้นจะสร้างตามลักษณะของมนุษย์ทุกประการ แต่จะไม่เหมือนกับรูปปั้นที่โชว์กายภาพของร่างกายตามต่างประเทศ เพราะมนุษย์ที่ยังคงลักษณะทางกายภาพไว้ครบถ้วนนั้นแสดงให้เห็นว่ายังคงความ เป็นโลกียะ คือยังไม่หลุดพ้นจากกิเลส แต่พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นนั้นมีความสวยงาม ราบเรียบ แต่ไม่คงไว้ซึ่งลักษณะทางกายภาพเช่นกล้ามเนื้อ เพราะเป็นตัวแทนของมหาบุรุษซึ่งหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงหรือ โลกุตระ

หลวงพ่อทองคำในขณะที่เป็นพระปูน
ความคิดเห็นนี้สอดคล้องกับบันทึกของ นายอเล็กซานเดอร์บราวน์ คริลโวล์ด นักโบราณคดีชาวอเมริกัน ที่ได้เขียนบทความเกี่ยวกับพระพุทธรูปสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ. 2496 โดยได้แสดงความคิดเห็นว่าลักษณะที่ผิดเพี้ยนไปจากกายภาพของมนุษย์ทั่วไปใน พระพุทธรูปสุโขทัยเป็นผลมาจากความพยายามที่จะถ่ายทอดความเป็นมหาบุรุษ 32 ประการลงไปในพระพุทธรูป ซึ่งทุกอย่างนั้นล้วยมาจากแรงศรัทธาเลื่อมใสในสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้หลุดพ้นซึ่งกิเลสทั้งปวงแล้วนั่นเอง

จากพระทองคำ สู่พระปูนปั้น

กล่าวกันว่าในยุคสมัยหนึ่งได้มีการพอกปูนทับ หลวงพ่อทองคำ และทำการลงลักปิดทองซ้ำอีกชั้นจนดูเหมือนพระพุทธรูปธรรมดาทั่วไป สาเหตุในครั้งนี้สันนิษฐานไว้ 2 สาเหตุหลักๆ ก็คือ ชาวกรุงสุโขทัยเองนั้นอาจเป็นผู้ที่พอกปูนอำพรางค์ทองคำไว้ เพราะช่วงหลังจากที่กรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง ได้มีสงครามบ่อยครั้งขึ้น และถูกกองทัพกรุงศรีอยุธยารุกรานเมื่อราวปี พุทธศตวรรษที่ 20

ถ้าเป็นจริงตามข้อสันนิษฐานนี้ หลวงพ่อทองคำในรูปของพระปูนปั้นได้ประดิษฐานอยู่ที่กรุงรัตนโกสินทร์มาอย่างยาวนาน

ภาพจำลองการเคลื่อนย้ายหลวงพ่อทองคำ
ส่วนอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งคือทางฝ่ายกรุงศรีอยุธยานั้นได้อัญเชิญหลวง พ่อทองคำมาประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยาในคราวที่สามารถรวมอำนาจกรุงสุโขทัยไว้ ได้ แต่มีเหตุให้ต้องพอกปูนทับเพื่ออำพรางจากการที่พม่ายกทัพมาโจมตีเมืองก่อน ที่จะเสียกรุง

สำหรับข้อสันนิษฐานทั้งสองสามารถเชื่อมโยงกันได้ถึงปัญหาทางสังคมที่ เกิดขึ้นในยุคนั้นจนถึงขนาดที่ไม่กล้าเปิดเผยความสวยงามที่มีค่ามหาศาลนี้ แต่อีกด้านหนึ่งนั้นช่างผู้พอกปูนทับลงไปนั้นได้แสดงถึงความชาญฉลาดในการ เก็บรักษาทองคำ โดยได้ลงรักไปบนผิวองค์พระทองคำก่อนที่จะพอกปูนทับ

ทั้งนี้สันนิษฐานว่าเพื่อให้ปูนยึดเกาะได้ดีขึ้นและสามารถรักษาเนื้อ ทองคำใม่ให้ถูกกัดกร่อนจากความเค็มของปูนได้เป็นอย่างดี เพราะปูนในสมัยก่อนนั้นทำมาจากหินปูนหรือเปลือกหอยจากทะเลนำมาเผา ซึ่งจะมีความเค็มมากกว่าปูนในปัจจุบัน ถ้าใครเคยมาสักการะหลวงพ่อทองคำแล้วก็จะเห็นได้ถึงความแวววาวของเนื้อทองคำ บริสุทธิ์ที่ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้

พระเศียร แบบดอกบัวตูม สมส่วนกับพระคอ
เมื่อปูนกระเทาะ

ต่อมาในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์นั้นได้มีการเคลื่อนย้ายหลวงพ่อทองคำมา ประดิษฐานที่วัดพระยาไกร ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และสุดท้ายย้ายมาประดิษฐานที่วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ซึ่งการเคลื่อนย้ายหลวงพ่อทองคำนั้นได้รับความสนใจจากประชาชนในระแวกนั้น เป็นอย่างมาก

ครั้นเมื่อจะยกไปประดิษฐานยังชั้นบนของวิหารก็ต้องใช้ทั้งแรงคนและ เครื่องมือมากมายแต่ไม่สำเร็จเพราะมีน้ำหนักที่มากเกินกว่าที่คาดคะเนไว้ และช่วงที่กำลังยกองค์พระขึ้นไปสักพักเชือกกลับขาจนองค์พระตกลงมากระแทกพื้น เกิดเป็นรอยร้าว จึงยุติการดำเนินการลง

แต่ในคืนเดียวกันนั้นเองเจ้าอาวาสวัดในขณะนั้นได้ฝันเห็นหญิงสูง ศักดิ์คนหนึ่งนำสังวาลมามอบให้ แล้วกำชับให้ท่านเก็บรักษาไว้ ต่อไปจะมีเป็นสิ่งที่มีค่ามาก เช้ารุ่งขึ้นทางวัดจึงสำรวจดูรอยร้าวและพบว่ามีการลงรักปิดไว้ จึงตัดสินใจแกะรักนั้นออกและพบเป็นเนื้อทองคำอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน

พระวรกาย อ่อนช้อยแม้กระทั่งด้านหลังขององค์พระ
ความศรัทธา และคุณค่าทางพุทธศิลป์

เรื่องราวของหลวงพ่อทองคำนั้นไม่เพียงแสดงให้เห็นคุณค่าทางด้าน ศิลปกรรม แต่ยังสะท้อนเรื่องราวของสังคมในแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันน่าแปลกที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจกับหลวงพ่อทองคำมากกว่าคนไทย อาจจะเป็นเพราะการจัดการของวัดหรืออย่างไรก็ตาม แต่ก็เชื่อว่าหลวงพ่อทองคำนั้นย่อมเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของชาวไทยที่ เกิดจากแรงศรัทธาใน

พระพุทธศาสนาที่ถ่ายทอดผ่านช่างฝีมือในอดีตออกมาเป็นศิลปกรรมที่มี คุณค่าในด้านพุทธศิลป์ ที่นักท่องเที่ยวหลายคนต้องเดินทางมาเพื่อให้เห็นกับตา และข้อสรุปของการเสวนา เรื่อง "หลวงพ่อทองคำ ถอดรหัสพุทธศิลป์สู่พุทธธรรม" ที่ผ่านมา ได้ความเห็นที่ตรงกันว่า

อะไรก็ตามที่ทำให้หลวงพ่อทองคำนั้นงดงามนั้นย่อมไม่ใช่เพราะทองคำ หรือมูลค่า แต่ยังเป็นปริศนาธรรมที่ให้เราเก็บไปคิดว่าความงดงามที่เกิดขึ้นและยังอยู่ คู่กับเราจนปัจจุบันนั้นเกิดจากคำว่า ศรัทธา ใช่หรือไม่

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯเขตสัมพันธวงศ์ กทม. มีหลวงพ่อทองคำประดิษฐานอยู่ ภายในพระมหามณฑป ที่ชั้น 4 เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08.00 -17.00 น. ส่วนชั้น 2 เป็น ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช ชั้น 3 เป็นนิทรรศการพระพุทธมหาสุวรรณ ทั้งชั้น 2 และ 3 เปิดทุกให้บริการวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 8.00-17.00 น. ทั้งนี้ผู้สนใจรายละเอียดสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทร. 0-2623-3329-30

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น