โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 6 เมษายน 2554 04:29 น.
ข่าวโรงงานไฟฟ้า นิวเคลียร์ที่ประเทศญี่ปุ่นเสียหายจากภัยพิบัติ คงทำให้หลายคนได้ตระหนักว่า พลังงานสะอาดจากธรรมชาตินั้น เป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากกว่าหลายเท่า แต่ปัญหา คือ แหล่งเรียนรู้พลังงานทางเลือกที่เปิดโอกาสแบบไม่มีข้อจำกัดให้แก่นักศึกษา ยังขาดแคลน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจึงร่วมกับภาคเอกชน เปิดตัวโครงการ “ไร่พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm)” มุ่งเป้าให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานทางเลือกแก่เยาวชน และเป็นต้นแบบแหล่งพลังงานที่สำคัญในอนาคตต่อไป
โครงการไร่พลังงานแสงอาทิตย์ นับเป็นขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดอุบลราชธานี ที่เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในเดือนเมษายนนี้ โดยนายสมชาย เหล่าสายเชื้อ กรรมการ สนับสนุนกิจการมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดเผยว่าไร่พลังงานแสงอาทิตย์ ตั้งบนพื้นที่กว่า 15 ไร่ ที่อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยกำลังการผลิตขนาด 1 เมกะวัตต์ ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านกระบวนการ Photovoltaic (PV) หรือการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นประจุไฟฟ้าผ่านสารกึ่งตัวนำด้วยแสง อาทิตย์ (Solar Cells) จำนวน 5,000 แผง โดยจะเริ่มจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ในเดือนเมษายน โดยไร่แสงอาทิตย์แห่งนี้จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิด ภาวะโลกร้อนได้มากกว่า 300 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
“หากในอนาคต ประเทศไทยมีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จริง จังหวัดอุบลราชธานี ก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่เป็นพื้นที่ก่อสร้าง ดังนั้นไร่พลังงานแสงอาทิตย์ ย่อมเป็นทางออก ว่าเราเน้นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้เกิดประโยชน์ เป็นทางออกให้สังคม ว่าถ้าไม่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ เราก็ควรใช้พลังงานจากธรรมชาติ ซึ่งมีมากที่สุดนั่นคือ พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งใช้ได้มากมายทั้งแปรรูปอาหาร เพิ่มความร้อน แปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าและเป็นโจทย์ที่ศูนย์แห่งนี้ตอบได้ เพราะเราใช้แสงอาทิตย์ มาเป็นพลังงานบริสุทธิ์ เป็นการเสนอทางออกให้ชุมชน จังหวัดว่า ไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานนิวเคลียร์”
อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์หลักของโครงการเพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ แหล่งการศึกษา แก่นิสิตนักศึกษา ผู้สนใจทั่วไป ทำให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้ามาทำการวิจัยข้อมูลได้ โดยไม่ต้องไปบินดูงานถึงต่างประเทศ
“นอกจากนี้ ด้านจุดเด่นของสภาพภูมิศาสตร์จังหวัดอุบลราชธานี ก็นับว่าได้เปรียบเพราะภาคอีสานมีปริมาณแสงอาทิตย์เข้มข้น พระอาทิตย์ขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ทำเลที่ตั้งจึงได้เปรียบ เส้นทางการเดินทางไปสู่ไร่พลังงานแสงอาทิตย์ก็ไม่ไกลจากชุมชน หรือสถานศึกษา ทำให้สามารถเดินทางไปดูงานได้สะดวก” นายสมชาย กล่าวทิ้งท้าย
“ปัจจุบันคณะวิทยาศาสตร์ พยายามผลิตโซลาร์เซลล์จากสารอินทรีย์ ซึ่งเป็นสารที่เราสังเคราะห์ขึ้นมาเอง โดยมีกลุ่มนักวิจัยรุ่นใหม่ของสมาคมวิทยาศาสตร์ และใช้สารที่เป็นสารอินทรีย์ทั้งหมด จากที่ส่วนใหญ่ใช้สารอนินทรีย์ซึ่งมีคุณสมบัติแตกต่างกัน ดังนั้นถ้าเราผลิตโซลาร์เซลล์ดังกล่าวได้ ก็จะทำให้ต้นทุนถูกลง และสามารถเก็บพลังงานงานแสงอาทิตย์ได้มากขึ้น”
“เรานำเสนอไปยังคณะทำงานว่า ให้สร้างทีวีวงจรปิดด้วย เพื่อให้เป็นการศึกษาแบบเรียลไทม์จากโรงไฟฟ้าจริงๆ ซึ่งจะมีห้องเรียนที่ ม.อุบลฯ สามารถศึกษาจากในมหาวิทยาลัยได้ด้วย และแม้ว่า โซลาร์ ฟาร์ม เทคโนโลยีไม่ได้เป็นของใหม่ แต่การเข้าถึงของจริง หรือการขอเข้าชมดูงานนั้น มีขั้นตอน และพิธีการมาก หรือการเข้าไปแล้วก็ยังขาดคนที่จะมาถ่ายทอดข้อมูล ไร่พลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้ จึงทำให้นักศึกษา รวมถึงบุคคลทั่วไปสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น