| ||
นักวิทยาศาสตร์คำนวณพบทุก ชั่วโมงทั่วโลก เกิด “ฝนฟ้าคะนอง” มากถึง 760 ครั้งเลยทีเดียว แต่ข้อมูลใหม่ที่เปิดเผยในที่ประชุมของนักภูมิศาสตร์นี้ยังน้อยกว่าข้อมูล ที่เชื่อถือมาเกือบศตวรรษอยู่มากทีเดียว ข้อมูลการนับจำนวนครั้งเกิดพายุฝนฟ้าคะนองนี้ เป็นงานวิจัยใหม่ ที่อาศัยความร่วมมือของเครือข่ายสถานีตรวจสภาพอากาศทั่วโลก ที่สามารถวัดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic pulse) ที่เกิดจากฟ้าผ่าที่รุนแรง และได้เปิดเผยข้อมูลนี้ในการประชุมของสหภาพภูมิศาสตร์ยุโรป (European Geosciences Union) ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย จากการนับจำนวนพายุฝนฟ้าคะนองพบว่าทุกๆ ชั่วโมง ทั่วโลกเกิดฝนฟ้าคะนองถึง 760 ครั้ง แต่บีบีซีนิวส์รายงานว่าจำนวนดังกล่าว น้อยกว่าจำนวนที่เคยนับและใช้กันมาเกือบศตวรรษ และงานวิจัยนี้ยังยืนยันว่าพายุฝนฟ้าคะนองนั้น เป็นปรากฏการณ์เขตร้อนที่สำคัญ อีกทั้งลุ่มแม่น้ำคองโก (Congo) เป็นจุดที่มีความร้อนเข้มข้น (hotspot) ของโลก และพายุฝนฟ้าคะนอง ยังช่วยในการติดตามเส้นทางแสงอาทิตย์บนโลก ที่ทำให้เกิดการพาความร้อนในอากาศ “อาจมีสถานีตรวจวัดอากาศ ที่พลาดการตรวจจับสัญญาณฟ้าผ่าไปบ้าง แต่เราเชื่อว่าสามารถจับสัญญาณใหญ่ๆ ได้ ซึ่งมากพอที่จะบอกเราได้ว่า เกิดพายุฝนฟ้าคะนองที่ไหน ผ่านการทำงานเป็นเครือข่ายทั่วโลก” คอลิน ไพร์ซ (Colin Price) หัวหน้าภาควิชาธรณีฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ระหว่างดวงดาว จากมหาวิทยาลัยเทล อาวีฟ (Tel Aviv University) ในอิสราเอลกล่าว การศึกษาครั้งนี้ ทำให้นักวิจัยได้แก้ไขจำนวนการเกิดพายุฝนฟ้าคะนองที่ใช้เป็นมาตรฐานมา ตั้งแต่ช่วงปี 1920 ซึ่งคาดว่า ครั้งแรกที่มีความพยายามในการประมาณจำนวนฝนฟ้าคะนองคือในปี 1925 โดย ซีอีพี บรูคส์ (CEP Brooks) นักภูมิอากาศวิทยาอังกฤษ ซึ่งในช่วงเวลานั้น สถานีตรวจวัดสภาพอากาศจะบันทึกวันที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองในระยะใกล้ๆ เท่าที่ทำได้ ผลการคำนวณของบรูคส์ออกมาว่า โดยเฉลี่ยแล้วทั่วโลกเกิดฝนฟ้าคะนองประมาณ 1,800 ครั้งต่อชั่วโมง หากแต่งานวิจัยของเขานั้น มีข้อมูลที่ยังไม่สมบูรณ์ และยังสรุปอย่างผิดพลาด ซึ่งข้อสรุปหนึ่งที่ผิดพลาดคือพายุฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นเท่าๆ กันบนแผ่นดินและในทะเล ทว่าอันที่จริงแล้วพายุฝนฟ้าคะนองใหญ่ๆ เกิดขึ้นบนโลก ในช่วงทศวรรษ 1950 โอเอช กิช (OH Gish) และ จีอาร์ เวท (GR Wait) ได้โดยนำเครื่องบินขึ้นไปเหนือฝนฟ้าคะนองใหญ่ๆ 21 ครั้ง พร้อมทั้งนำอุปกรณ์ขึ้นไปตรวจวัดความต่างศักย์และกระแสไฟฟ้าในอากาศ เมื่อขยายผลไปส่วนอื่นๆ ของโลก พวกเขาประเมินได้ว่า มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นทั่วโลกปีละ 2,000-3,600 ครั้ง ทุกวันนี้ แม้ว่าดาวเทียมจะเข้ามาบทบาทมากขึ้น แต่ไม่ได้ตรวจวัดสภาพอากาศทั้งโลก สำหรับงานวิจัยล่าสุดนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เทคนิคที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง โดยอาศัยข้อมูลจากสถานีตรวจวัดสภาพอากาศทั่วโลกมากกว่า 40 แห่ง เพื่อตรวจวัดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากการเกิดฟ้าผ่าครั้งใหญ่ๆ จากการประสานงานสถานีตรวจวัดแบบสามเหลี่ยม ทำให้เครือข่ายค้นหาตำแหน่งเกิดฟ้าแลบทั่วโลก (World Wide Lightning Location Network) จะสามารถหาจุดเกิดฟ้าผ่าได้ และเมื่อจัดกลุ่มให้ปรากฏการณ์ฟ้าแลบเหล่านั้น อัลกอริทึมของคอมพิวเตอร์ที่ทีมวิจัย จะคำนวณได้ว่าเป็นปรากฏการณ์จากพายุฝนฟ้าคะนองใด แต่ละทวีปจะเกิดฝนฟ้าคะนองสูงสุดในช่วงเวลาระหว่างวัน และในภาพรวมทั่วโลก เกิดสูงสุดในช่วงเที่ยงของเวลามาตรฐานกรีนิช (GMT) โดยฝนฟ้าคะนองจะรวมกลุ่มในศูนย์กลางทวีปของเขตร้อน และเห็นได้ชัดในลุ่มน้ำคองโก “นั่นอาจเป็นเพราะว่าแถบนั้นแห้งแล้งกว่าลุ่มน้ำอะเมซอน และฝนฟ้าคะนองดูจะก่อตัวได้ง่าย ในภาวะเงื่อนไขที่แห้งแล้ง” ดร.ไพร์ซอธิบายแก่บีบีซีนิวส์ ตอนนี้ทางเครือข่ายกำลังหาวิธีที่จะเพิ่มจุดสังเกตใหม่ เพื่อแก้ไขผลลัพธ์ที่ได้ให้ดีขึ้น และเร็วๆ นี้ได้เริ่มต้นโครงการที่จะตรวจวัดการปะทุของภูเขาไฟ ผ่านการตรวจวัดแสงแวบของฟ้าผ่า ที่เกิดขึ้นระหว่างการพ่นเถ้าถ่านร้อนออกมา |
วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554
ฝนฟ้าคะนอง
ทุกชั่วโมงทั่วโลกเกิด “ฝนฟ้าคะนอง” ถึง 760 ครั้ง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น