วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2554

บริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ

แนะสูตรเด็ด 8:8:8 ช่วยบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 เมษายน 2554 06:56 น.


สันติ จันทวรรณ นักกิจกรรมบำบัด
ในยุคที่เร่งรีบแบบ นี้ การบริหารจัดการเวลาถือเป็นสิ่งที่คนเราทุกคนควรทำ เพราะกิจวัตรประจำวันของแต่ละคนมีไม่เหมือนกันทั้งที่ทำงาน บ้าน หรือโรงเรียน บางครั้งอาจทำให้เวลาพันกันยุ่งเหยิงไปหมด เกิดความกังวล และความเครียดขึ้นได้ เนื่องจากไม่รู้จะจัดลำดับอะไรก่อนหลังดี

วันนี้ทีมงาน Life & Family มีเทคนิคการบริหารจัดการเวลาอย่างมีประสิทธิภาพจากนักกิจกรรมบำบัดมาฝากกัน

สำหรับใครที่มีงานมะรุมมะตุ้มจนไม่รู้จะแบ่งเวลาพักผ่อนอย่างไรดี สันติ จันทวรรณ นัก กิจกรรมบำบัด โรงพยาบาลมนารมย์ ให้แนวทางว่า อาจเริ่มจากการมองเรื่องการใช้เวลาในแต่ละวันก่อนซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่ แล้วว่า ใน 1 วันทุกคนมีเวลาเท่ากัน 24 ชั่วโมง แล้วใน 24 ชั่วโมง ควรทำอะไรบ้าง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วในวัยเรียนหรือวัยทำงาน การจัดเวลาที่ทำให้เข้าใจง่ายนั้น จะแบ่งจำนวน 24 ชั่วโมงของวันเป็น 3 ส่วน และได้สูตรคือ 8 : 8 : 8 ซึ่งจะมีลักษณะดังนี้

8 ชั่วโมง สำหรับ การนอนหลับ พักผ่อน

8 ชั่วโมง สำหรับ การทำงาน หรือการเรียน

8 ชั่วโมง สำหรับกิจวัตรประจำวันต่างๆ เช่น อาบน้ำ แต่งตัว รับประทานอาหาร เดินทาง เข้าสังคม ตลอดจนกิจกรรมยามว่าง

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเวลาใน 1 วัน มีโครงสร้างการดำเนินชีวิตที่ค่อนข้างชัดเจนในแต่ละวัน หากจัดเวลาให้เหมาะสมตามรูปแบบข้างต้น ซึ่งในบางกรณีสามารถปรับเปลี่ยนลักษณะชั่วโมงต่างๆ ตามสูตรแล้วแต่ลักษณะหน้าที่การงาน การดำเนินชีวิต และสภาพสังคม

นอกจากแบ่งเวลาการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว นักกิจกรรมบำบัด บอกต่อว่า การจัดลำดับของสิ่งที่ทำนั้นก็ช่วยทำให้คุณใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพได้ อย่างน้อย ๆ จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าควรเริ่มทำสิ่งใดก่อนหลังดี ซึ่งมีอยู่ 4 กลุ่มได่แก่ 1. สำคัญและเร่งด่วน 2. สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน 3.ไม่สำคัญแต่เร่งด่วน 4. ไม่สำคัญ และไม่เร่งด่วน โดยแต่ละกลุ่มนั้น อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ดังรายละเอียดต่อไป

สิ่งสำคัญและเร่งด่วน

เป็นสิ่งที่จำเป็น และต้องทำทันที เช่น ป่วยไม่สบายทนไม่ไหวต้องไปหาหมอ ต้องไปจ่ายค่าไฟฟ้า เนื่องจากเป็นวันสุดท้ายที่ครบกำหนดจ่าย น้ำมันรถหมดต้องเติมปั้มที่ใกล้ที่สุดทันที สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถผ่อนผันเวลาได้ ต้องทำทันทีและถูกบังคับจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ถ้าไม่ทำแล้วจะก่อปัญหา และถ้าหากมีสิ่งนี้มากเกินไปจะทำให้ชีวิตค่อนข้างวุ่นวายกดดัน ยุ่งเหยิงตลอดเวลา ซึ่งอาจเกิดได้จากสถานการณ์บังคับ ผัดวันประกันพรุ่งหรือไม่ค่อยใส่ใจ

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจากโรงพยาบาลมนารมย์
สิ่งสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน

เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และสามารถวางแผนไว้ล่วงหน้าได้ เช่น มีนัดไปอบรมสัมนา 3 วัน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า หรือมีนัดทำสัญญาการจัดจ้างอีก 2 สัปดาห์ หรือมีนัดพักผ่อนกับครอบครัวช่วงปลายปี สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่อยากทำและสามารถวางแผนจัดการเวลาไว้ล่วงหน้าได้ ซึ่งมักส่งผลให้มีการใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพและชีวิตมีเป้าหมายในการใช้ เวลาในแต่ละวัน

สิ่งไม่สำคัญแต่เร่งด่วน

เป็นสิ่งที่ทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ ซึ่งต้องเผชิญและต้องตัดสินใจในขณะนั้นทันที เช่น มีคนโทรศัพท์มาชวนทำบัตรเครดิต มีคนขอความช่วยเหลือถามทาง เพื่อนชวนไปกินข้าวด้วยตอนนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มาขัดจังหวะการใช้เวลาและขึ้นอยู่กับการตัดสินใจใน ขณะนั้น ซึ่งส่งผลทำให้การใช้เวลามีประสิทธิภาพลดลง

สิ่งไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน

เป็นสิ่งที่ทำไปตามอารมณ์หรือความรู้สึก ซึ่งทำให้เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ เช่น เล่นเกมฆ่าเวลา นอนจนเกินความต้องการ ดูโทรทัศน์ไปเรื่อย ๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความเพลิดเพลินแต่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร ควรลดให้เหลือน้อยที่สุด

โดยทั้งนี้ นักกิจกรรมบำบัดแนะว่า ควรลองนำสิ่งต่าง ๆ ที่จัดตาม 4 กลุ่มข้างต้นมาจัดเรียงลำดับกัน โดยเรียงจากสิ่งที่ต้องทำในกลุ่มสิ่งสำคัญและเร่งด่วนเป็นอันดับแรก สิ่งสำคัญแต่ไม่เร่งด่วนเป็นอันดับสอง สิ่งไม่สำคัญแต่เร่งด่วนเป็นอันดับสาม และสิ่งไม่สำคัญ ไม่เร่งด่วนเป็นอันสุดท้าย นั่นจะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นในการที่จะเริ่มทำอะไรก่อนหลังอย่างไม่ ยุ่งเหยิง

ลองนำไปปรับใช้กันดู นะครับ หากผู้อ่านท่านใดมีเทคนิคการบริหารจัดการเวลาที่ทำแล้วได้ผล เข้ามาบอกกันได้นะครับ บางทีวิธีของท่านอาจจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านท่านอื่น ๆ ไม่มากก็น้อย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น