“ดอกไม้ประจำชาติอาเซียน” ความงามที่ทรงคุณค่า
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 15 กันยายน 2556 13:46 น.
“ดอกราชพฤกษ์” (Ratchaphruek) ดอกไม้ประจำชาติไทย
ในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ “อาเซียน” (ASEAN : The Association of South East Asian Nations) นั้น ประกอบไปด้วยประเทศสมาชิกจำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์ เมียนมาร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน โดยในแต่ละประเทศนั้นมีสัญลักษณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สกุลเงิน สถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรม สัตว์ประจำชาติ หรือกระทั่งดอกไม้ เป็นตัวบ่องบอกถึงความแตกต่างของแต่ละประเทศ
ซึ่ง “ดอกไม้” ก็ถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่สามารถบ่งบอกได้ถึงเอกลักษณ์ หรือความแตกต่างของแต่ละประเทศได้ และเพื่อเป็นการเพิ่มความรู้ ความเข้าใจ ในประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนมากขึ้น ก่อนการเข้าสู่เออีซี ในปี พ.ศ.2558 เราจึงมีข้อมูลเกี่ยวกับดอกไม้ประจำชาติ ทั้ง 10 ประเทศมาฝากกัน
ประเทศไทย
“ดอกราชพฤกษ์” (Ratchaphruek) หรือดอกคูณ มีสีเหลืองสวยสง่างาม เป็นสัญลักษณ์แห่งความมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และสีเหลืองยังเป็นสีแห่งพระพุทธศาสนาและความรุ่งโรจน์ ที่แสดงให้เห็นถึงการยึดมั่นในการทำความดี รวมทั้งยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีของคนในชาติอีกด้วย
“ดอกประดู่” (Paduak) แห่งประเทศเมียนมาร์
เมียนมาร์
“ดอกประดู่” (Paduak) พม่าเรียกว่าบะเด้าปาน เป็นดอกไม้ที่พบเห็นได้ทั่วไปในประเทศ มีลักษณะเป็นสีเหลืองทอง เป็นดอกไม้แห่งเทศกาลสงกรานต์ หรือปีใหม่พม่า ในช่วงเทศกาลนี้ชาวพม่าจะเอาดอกประดู่มาเสียบผม ติดหน้ารถ ประดับบ้าน ฯลฯ นอกจากนี้แล้วดอกประดู่ยังถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความแข็งแรงทนทาน และยังเป็นดอกไม้ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
“กล้วยไม้แวนด้า” (Vanda Miss Joaquim) สิงคโปร์
สิงคโปร์
“กล้วยไม้แวนด้า” (Vanda Miss Joaquim) ตั้งชื่อตามผู้ผสมพันธุ์ คือ Miss Agnes Joaquim เป็นดอกกล้วยไม้ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในประเทศสิงคโปร์ มีลักษณะสีม่วงสด เติบโตเร็ว และทนกับสิ่งแวดล้อม เปรียบเหมือนชาวสิงคโปร์ ที่ไม่ว่าจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบไหน ก็สามารถเติบโตได้ในทุกที่
“ดอกส้านชวา” หรือดอก “ชิมเปอร์” ดอกไม้ประเทศบรูไน
บรูไน
“ดอกส้านชวา” (Dillenia) หรือดอก “ชิมเปอร์” (Simpor) เป็นดอกไม้กลางแจ้ง เป็นไม้ปลูกได้ยาก มีกลีบดอกใหญ่สีเหลืองสด หากบานเต็มที่แล้วกลีบดอกจะมีลักษณะคล้ายร่ม พบเห็นได้ตามแม่น้ำทั่วไปของบรูไน มีสรรพคุณช่วยรักษาบาดแผล จะพบดอกชิมเปอร์ได้จากธนบัตรใบละ 1 ดอลลาร์ ของประเทศบรูไน และในงานศิลปะพื้นเมือง
“ดอกลำดวน” (Rumdul) ดอกไม้ประเทศกัมพูชา
กัมพูชา
“ดอกลำดวน” (Rumdul) เป็นดอกไม้สีขาวหรือเหลืองนวล กลีบดอกมีลักษณะหนาทึบและแข็งเล็กน้อย มีกลิ่นหอมเย็น ถูกจัดเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งเพราะมีความหมายถึงความสดชื่นหอมกรุ่น และเป็นดอกไม้ที่เป็นตัวแทนถึงสุภาพสตรี วิธีปลูกที่ถูกต้องคือปลูกไว้ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวบ้าน ที่สำคัญต้องปลูกในวันพุธ
“ดอกกล้วยไม้ราตรี” (Moon Orchid) ประเทศอินโดนีเซีย
อินโดนีเซีย
“ดอกกล้วยไม้ราตรี” (Moon Orchid) เป็นหนึ่งในดอกกล้วยไม้ที่บานอยู่ได้นานที่สุด โดยช่อของดอกนั้นสามารถแตกกิ่งและอยู่ได้นานถึง 2 - 6 เดือน โดยจะบานปีละ 2 - 3 ครั้งเท่านั้น ทั้งนี้ดอกกล้วยไม้ราตรีสามารถเจริญเติบโตได้ดีในอากาศชื้น จึงพบเห็นได้ง่ายในพื้นที่ราบต่ำของประเทศอินโดนีเซีย
“ดอกชบา” หรือ “พู่ระหง” ประเทศมาเลเซีย
มาเลเซีย
“ดอกชบา” หรือ “พู่ระหง” (Bunga Raya) ในภาษาท้องถิ่นทั่วไปใช้ว่า บุหงา รายอ มีลักษณะกลีบดอกเป็นสีแดง มีเกสรยื่นยาวออกมาเหนือดอก เป็นดอกไม้แห่งความสูงส่งและสง่างาม ซึ่งถูกจัดให้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศมาเลเซีย เพื่อเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นและความอดทนในชาติ
“ดอกพุดแก้ว” (Sampaguita Jasmine) ประเทศฟิลิปปินส์
ฟิลิปปินส์
“ดอกพุดแก้ว” (Sampaguita Jasmine) เป็นดอกไม้สีขาว กลีบดอกเป็นรูปดาว จะส่งกลิ่นหอมในตอนกลางคืน ถือเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ เรียบง่าย อ่อนน้อมถ่อมตน รวมถึงความเข้มแข็งของชาวฟิลิปปินส์
“ดอกบัว” (Lotus) ดอกไม้แห่งเวียดนาม
เวียดนาม
“ดอกบัว” (Lotus) เป็นที่รู้จักกันในนาม “ดอกไม้แห่งรุ่งอรุณ” เป็ญสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ความผูกพัน และการมองโลกในแง่ดี เป็น 1 ใน 4 พันธุ์ไม้แห่งความสง่างาม อีกทั้งยังเป็นดอกไม้แห่งความอดทนและเป็นปึกแผ่น
“จำปาลาว” หรือ “ดอกลีลาวดี” ประเทศลาว
ลาว
“จำปาลาว” หรือ “ดอกลีลาวดี” (Champa) เป็นดอกไม้ที่มีสีสันหลากหลาย ไม่เฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นเพียงสีขาวเท่านั้น เช่น สีชมพู สีเหลือง สีแดง หรือสีโทนอ่อนต่าง ๆ โดยดอกจำปาลาวนั้นเป็นตัวแทนของความสุขและความจริงใจ จึงนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายพิธีสำคัญต่างๆ อีกทั้งยังใช้เป็นพวงมาลัยต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่สำคัญ
และทั้งหมดนี้ก็เป็นดอกไม้ประจำชาติของแต่ละประเทศในสมาชิกประชาคมอาเซียน ที่นอกจากจะสวยงามแล้ว ยังมีคุณค่า และมีความหมายอีกด้วย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น