วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

สัตว์ประจำชาติอาเซียน

รู้จัก “สัตว์ประจำชาติอาเซียน” ก่อนก้าวเข้าสู่เออีซี     ดูภาพชุดจาก Manager Multimedia
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์     8 กันยายน 2556 15:04 น.    
   
“ช้าง” สัตว์ประจำชาติไทย
       ในปี พ.ศ. 2558 ก็จะก้าวสู่การเปิดประตูเข้าสู่สมาคมอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economic Community) และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เราจึงต้องเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ของประเทศในประชาคมอาเซียนในด้านต่างๆ โดยวันนี้เราจะพาไปรู้จักกับสัตว์ประจำชาติอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ
      
       ประเทศที่เป็นสมาชิกประชาคมอาเซียนมีด้วยกันอยู่ 10 ประเทศ ประกอบไปด้วย ไทย ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน ส่วนประเทศไหนจะมีสัตว์ชนิดใดเป็นสัตว์ประจำชาติกันบ้างนั้น ตามไปอ่านกันเลย

“เสือ” สัตว์ประจำชาติของประเทศเมียนมาร์
       “ประเทศไทย”
       “ช้าง” เป็นสัตว์ประจำชาติไทย ช้างถือเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง เนื่องจากคนไทยมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับช้างมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ครั้งหนึ่งบนธงชาติไทยก็เคยมีรูปช้างปรากฎอยู่บนผืนธงสีแดง กระทั่งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2541 คณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้มีมติเห็นชอบประกาศให้วันที่ 13 มีนาคมของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์ช้างไทย เพื่อให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญและการดำรงอยู่ของช้างไทย

“มังกรโคโมโด” สัตว์ประจำชาติอินโดนีเซีย
       “เมียนมาร์”
       “เสือ” เป็นสัตว์ประจำชาติของประเทศเมียนมาร์ ลักษณะของเสือสามารถบ่งบอกได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของประเทศเมียนมาร์
      
       “อินโดนีเซีย”
       “มังกรโคโมโด” เป็นสัตว์ประจำชาติอินโดนีเซีย มังกรโคโมโดเป็นสัตว์เลื้อยคลานจำพวกกิ้งก่า (มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก) มังกรโคโมโดถือเป็นสัตว์เลื้อยคลานใกล้สูญพันธุ์ สามารถพบได้เฉพาะบนเกาะโคโมโด (Komodo Island) ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ ที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ เนื่องจากเป็นเกาะภูเขาไฟกลางทะเล

“กระบือ” สัตว์ประจำชาติฟิลิปปินส์
       “ฟิลิปปินส์”
       “กระบือ” เป็นสัตว์ประจำชาติฟิลิปปินส์ กระบือในภาษาตากาล็อกเรียกว่า คาราบาว สำหรับในประเทศฟิลิปปินส์เลี้ยงกระบือเพื่อใช้แรงงานในไร่นา หรือใช้สำหรับการชักลากซุงออกจากป่า โดยลักษณะนิสัยพฤติกรรมของกระบือนั้น เมื่อว่างเว้นจากการถูกใช้งานมักจะชอบนอนแช่น้ำหรือแช่ปลักโคลนเพื่อเป็นการผ่อนคลายความร้อนของร่างกาย

“เสือโคร่ง” สัตว์ประจำชาติบรูไน
       “บรูไน”
       “เสือโคร่ง” เป็นสัตว์ประจำชาติบรูไน เสือโคร่งหรือเสือลายพาดกลอน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม จัดเป็นสัตว์กินเนื้อ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panthera tigris ในวงศ์ Felidae จัดเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้ และเป็นเสือสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดด้วย (ขณะที่บางข้อมูลว่า บรูไน ไม่มีสัตว์ประจำชาติ)

“เสือมลายู” สัตว์ประจำชาติมาเลเซีย
       “มาเลเซีย”
       “เสือมลายู” เป็นสัตว์ประจำชาติมาเลเซีย เสือมลายูมีถิ่นฐานอยู่ทางตอนกลางและตอนใต้ของคาบสมุทรมลายู โดยจะเห็นสัญลักษณ์ของเสือมลายูได้จากบนตราแผ่นดินของประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นการแสดงถึงพละกำลังและความกล้าหาญของชาวมาเลเซีย อีกทั้งยังใช้เป็นชื่อเล่นของฟุตบอลทีมชาติมาเลเซียอีกด้วย

“กูปรี” หรือ “โคไพร” สัตว์ประจำชาติของประเทศกัมพูชา
       “กัมพูชา”
       “กูปรี” หรือ “โคไพร” เป็นสัตว์ประจำชาติของประเทศกัมพูชา (เจ้านโรดมสีหนุแห่งกัมพูชาทรงประกาศให้กูปรีเป็นสัตว์ประจำชาติของกัมพูชา) กูปรีเป็นสัตว์จำพวกกระทิงและวัวป่า มักอยู่รวมเป็นฝูง โดยฝูงหนึ่งอาจมากถึง 20 ตัว กูปรีจัดว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พบเห็นได้ยากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก พบได้ทางเหนือของประเทศกัมพูชา ทางใต้ของลาว ทางตะวันตกของเวียดนาม และทางตะวันออกของไทย ปัจจุบันไม่มีการรายงานการพบมานานแล้ว เชื่อว่าอาจจะยังพอมีหลงเหลืออยู่ในชายแดนไทยกับกัมพูชาแถบจังหวัดศรีสะเกษ ราวปี พ.ศ. 2507 มักจะมีข่าวว่าพบสัตว์ลักษณะคล้ายกูปรีอยู่บ่อยๆ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันที่น่าเชื่อถือพอ นอกจากคำเล่าลือเท่านั้น

“ช้าง” สัตว์ประจำชาติประเทศลาว
       “ลาว”
       “ช้าง” เป็นสัตว์ประจำชาติประเทศลาว ช้างถือเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองที่มีความผูกพันกับชาวลาวเป็นอย่างยิ่ง ในอดีตลาวได้รับการเรียกขานว่าเป็นเมืองล้านช้าง แต่ปัจจุบันประชากรช้างในลาวอยู่ในภาวะวิกฤต รัฐบาลลาวจึงได้ฟื้นฟูและอนุรักษ์ช้างลาวไว้ โดยการจัดงานบุญช้างขึ้นเป็นประจำทุกปี
      
       “เวียดนาม”
       “กระบือ” หรือควาย เป็นสัตว์ประจำชาติประเทศเวียดนาม สามารถพบเห็นได้ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม

“กระบือ” สัตว์ประจำชาติประเทศเวียดนาม
       “สิงคโปร์”
       “สิงโต” เป็นสัตว์ประจำชาติของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อประเทศ มาจากคำว่า สิงหปุระ (Singapura) เป็นภาษาสันสกฤต หมายถึงเมืองแห่งสิงโต ตามตำนานเล่าขานเจ้าผู้ครองนครแห่งปาเล็มบัง ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย ได้ออกเดินทางแสวงหาดินแดนใหม่เพื่อสร้างเมือง แต่เรือก็อับปางลง พระองค์ได้ว่ายน้ำขึ้นฝั่ง แล้วก็เห็นสัตว์ชนิดหนึ่งมีรูปร่างลำตัวสีแดงหัวดำหัวคล้ายสิงโตหน้าอกขาว พระองค์จึงถามคนติดตามว่า สัตว์ตัวนั้นคืออะไรคนติดตามก็ตอบว่ามันคือสิงโต พระองค์จึงเปลี่ยนชื่อเกาะแห่งนั้นเสียใหม่ว่า สิงหปุระ ซึ่งจริงๆ แล้วสัตว์ชนิดนั้นอาจเป็นเสือ เพราะไม่มีหลักฐานว่ามีการพบสิงโตบนเกาะมาก่อน แต่ประเทศสิงคโปร์และสิงโตก็มีความเกี่ยวข้องกันนับจากนั้นเป็นต้นมา
      
       ปัจจุบันบนตราแผ่นดินสิงคโปร์ มีสิงโตปรากฏอยู่เคียงคู่กับเสือโคร่ง โดยสิงโตด้านขวานั้นแทนประเทศสิงคโปร์ ส่วนเสือโคร่งด้านซ้ายนั้นแทนประเทศมาเลเซียแสดงถึงความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ของเกาะสิงคโปร์กับมาเลเซีย โดยสิงโตนั้นเป็นสัญลักษณ์แทนความกล้าหาญ พละกำลังและความดีเลิศ

“สิงโต” สัตว์ประจำชาติของประเทศสิงคโปร์
       นี่ก็เป็นสัตว์ประจำชาติของแต่ละประเทศในประชาคมอาเซียน จะเห็นได้ว่าบางประเทศอาจเป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน แต่แตกต่างด้วยที่มาและความหมาย ซึ่งสัตว์ทั้งหมดนี้ก็สามารถบ่งบอกถึงสัญลักษณ์แต่ละประเทศได้เป็นอย่างดี
      

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น