วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สืบจากศพ

สืบจากศพ! ฝึกแกะรอยผู้ร้ายในมหกรรมวิทย์
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 13 สิงหาคม 2553 10:12 น
สถานที่เกิดเหตุฆาตกรรม ปริศนา ถูกจำลองมาไว้ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2553 เพื่อให้ "นักนิติวิทย์น้อย" แกะรอยหาคนร้ายตัวจริง
นายดำ, นายแดง และนายเขียว "ใคร" คือฆาตรกรตัวจริง ที่สังหารนายขาวอย่างโหดเหี้ยม “งานมหกรรมวิทย์” ปีนี้ เปิดพื้นที่ให้เยาวชนคนกล้ามาสวมบท “นักนิติวิทยาศาสตร์น้อย” แกะรอยตามหาผู้ร้าย ในคดีฆาตกรรมสยองขวัญ

เมื่อผู้ร้ายก่อคดีฆาตกรรมสังหารเหยื่อในที่ลับตาคนแล้วหลบหนีไป ตำรวจจะตามจับฆาตกรมาลงโทษได้อย่างไร งานนี้นักนิติวิทยาศาสตร์ช่วยได้ พร้อมชวนเยาวชนไปรู้จักศาสตร์เพื่อความยุติธรรม และทดลองสวมบทนักนิติวิทยาศาสตร์เก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุ กลางงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี 2553 ที่ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

น้องๆ นักนิติวิทยาศาสตร์น้อย จะได้ทดลองเก็บหลักฐานจากวัตถุพยานในสถานที่เกิดเหตุ ณ ห้องนั่งเล่นภายในบ้านหลังหนึ่งซึ่งมีนายขาวนอนเสียชีวิตอยู่ที่พื้นห้อง พร้อมด้วยร่องรอยคราบเลือด ลายนิ้วมือ รอยเท้า เขม่าดินปืน ฯลฯ (ฉากสมมติ) จากนั้นนำข้อมูลวัตถุพยานที่เก็บได้ไปตรวจพิสูจน์ และใช้ประกอบกับคำให้การของผู้ต้องสงสัย (นายดำ, นายแดง และนายเขียว) เพื่อระบุตัวผู้กระทำความผิดตัวจริง พร้อมทั้งเรียนรู้เทคนิคการทำงานของนักนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อประโยชน์ในกระบวนการยุติธรรม

“คราบเลือด" บอกอะไรได้บ้าง

เมื่อเวลาผ่านไป "คราบเลือด" จะแห้งและมักมีสีน้ำตาลแดง ผิวมัน และอาจเลือนหายไปได้เมื่อถูกแสงแดด ความร้อน หรือถูกชะล้าง ซึ่งคราบเลือดที่แห้งมากๆ ก็อาจมีสีเปลี่ยนเป็นเขียวหรือฟ้าก็ได้ ขึ้นอยู่กับวัตถุที่คราบเลือดนั้นติดอยู่ เช่น คราบเลือดที่ติดอยู่บนวัตถุที่เป็นโลหะจะเปลี่ยนสีเร็วกว่าคราบเลือดที่ติด อยู่บนผ้า และคราบเลือดที่ติดอยู่บนกระดาษอาจเปลี่ยนเป็นสีแปลกๆ ได้ เนื่องจากคราบเลือดดูดสีจากกระดาษ

วิธีการตรวจพิสูจน์คราบเลือด ก่อนอื่นต้องตรวจว่าเป็นคราบเลือดหรือไม่ โดยใช้ไม้พันสำลีนำไปเช็ดหรือถูกับคราบต้องสงสัย แล้วหยดน้ำยาจากชุดทดสอบ (ชุดน้ำยาฟีนอฟทาลีน : Phenolphthalein) ทีละชนิดต่อเนื่องกัน หากคราบต้องสงสัยเปลี่ยนเป็นสีชมพูทันที แสดงว่าเป็นคราบเลือด จากนั้นนำไปพิสูจน์ว่าเป็นคราบเลือดของคนหรือสัตว์ ด้วยชุดน้ำยาเอชอาร์ (HR) หากเป็นเลือดคน ก็จะนำไปตรวจหาสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) ว่าเป็นเลือดของใครต่อไป

ทั้งนี้ รอยเลือดที่พบในที่เกิดเหตุสามารถบอกได้ถึงวิธีการกระทำผิดของคนร้าย เส้นทางหลบหนีของคนร้าย ช่วยในการพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลผู้กระทำผิด รวมทั้งระยะเวลาการเสียชีวิตของผู้ตาย

ระบุตัวคนร้ายด้วยเอกลักษณ์จาก "ลายนิ้วมือ"

ลายนิ้วมือเป็นวัตถุพยานประเภทหนึ่ง และการพิสูจน์ลายนิ้วมือก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล ที่สามารถช่วยระบุตัวคนร้ายได้ เพราะมนุษย์แต่ละคนมีลายพิมพ์นิ้วมือที่ไม่ซ้ำกันเลย แม้ว่าจะมีสายเลือดเดียวกัน เหมือนกับลายพิมพ์ดีเอ็นเอของแต่ละคนที่แตกต่างกัน ซึ่งรูปแบบลายนิ้วมือโดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 3 แบบใหญ่ๆ ได้แก่ มัดหวาย โค้ง และก้นหอย

เราสามารถค้นหารอยนิ้วมือแฝงในสถานที่เกิดเหตุได้ เช่น บนแก้วน้ำ ลูกบิดประตู โดยใช้ไฟฉาย ทำรอยนิ้วมือแฝงให้ปรากฏชัดขึ้นด้วยผงฝุ่น (Black print powder) หรือรมควัน หรือสารเคมี และบันทึกรอยลายนิ้วมือแฝงเหล่านั้น เช่น ถ่ายภาพ หรือลอกรอย เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับลายนิ้วมือของผู้ต้องสงสัย

ตรวจเนื้อเยื่อ-ไข่แมลงวัน หาเวลาเสียชีวิต

"เวลาที่เสียชีวิต" คือสิ่งแรกๆ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการทราบ เนื่องจากมีความสำคัญมากต่อการระบุตัวผู้กระทำความผิด ซึ่งในเบื้องต้นอาจสังเกตได้จากนาฬิกาที่ตกหล่นอยู่ในที่เกิดเหตุ โดยสันนิษฐานว่าเป็นเวลาโดยประมาณ และต้องมีการตรวจสอบโดยละเอียดอีกครั้งด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ

- การตรวจอุณหภูมิของศพ โดยเมื่อเสียชีวิตใหม่ๆ ตัวศพจะยังอุ่นอยู่ เมื่อเสียชีวิตไปแล้ว 3 ชั่วโมง ร่างกายจะเริ่มเย็นลงโดยเฉลี่ย 1 องศาเซลเซียสต่อ 1 ชั่วโมง

- การตรวจดูการตกของเลือด (Livor Mortis) ภายหลังการตายประมาณ 3-4 ชั่วโมง จะเกิดสภาวะที่ผิวหนังร่างกายเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดง เนื่องจากมีเลือดไหลเทลงไปยังส่วนต่ำของร่างกายตามแรงโน้มถ่วงของโลก เช่น สภาพศพนอนคว่ำหน้า ด้านซีกหน้าที่คว่ำบนพื้นจะมีสีเข้มขึ้นกว่าด้านบน

- การตรวจดูการแข็งตัวของกล้ามเนื้อ (Rigor Mortis) เกิดจากการตกตะกอนของโปรตีนในกล้ามเนื้อ โดยจะเกิดขึ้นเร็วที่สุดหลังการเสียชีวิตประมาณครึ่งชั่วโมง แต่กว่าจะสังเกตเห็นได้ต้องใช้เวลา 4-8 ชั่วโมงไปแล้ว และจะเกิดการแข็งตัวเต็มที่ในระยะเวลา 12 ชั่วโมง และศพจะเริ่มอ่อนตัวลง การแข็งตัวจะเริ่มจากกล้ามเนื้อเล็กๆ บริเวณใบหน้า ขากรรไกร ลงมาที่คอ ข้อมือ แขน หลัง และขา ตามลำดับ และหลังจากเสียชีวิต 24 ชั่วโมง ศพจะเริ่มอ่อนตัวและเน่าเปื่อย

- การประเมินระยะเวลาการตายจากอาหารในกระเพาะอาหาร เพื่อหาระยะเวลาการตายโดยประมาณจากการวิเคราะห์ลักษณะอาหารในกระเพาะอาหาร ซึ่งปกติอาหารที่ย่อยแล้วจะถูกส่งไปที่ลำไส้เล็กตอนต้น ส่วนต้นของอาหารที่รับประทานจะใช้เวลาเดินทางถึงลำไส้ใหญ่ส่วนต้นประมาณ 6-8 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร ส่วนอาหารที่ย่อยยากก็จะทำให้อาหารอยู่ในกระเพาะอาหารนานขึ้น

- ตรวจสอบหนอนแมลงวัน เมื่อศพเริ่มเน่า แมลงวันจะมาวางไข่ หลังจากวางไข่แล้วประมาณ 24 ชั่วโมง ไข่จะกลายเป็นตัวหนอน หลังจากนั้น 7 วัน หนอนจะเจริญเติบโตมาเป็นดักแด้ และอีก 7 วัน ดักแด้จะเติบโตเป็นแมลงวัน ซึ่งช่วยระบุระยะเวลาการเสียชีวิตของผู้ตายได้

สาเหตุการตาย บอกได้ด้วยร่องรอยจากบาดแผล

การตรวจหาร่องรอยบาดแผลบนร่างกายของผู้ตาย ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถประเมินสาเหตุการเสียชีวิตได้ว่าเกิดจากอะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร มีความรุนแรงขนาดไหน เป็นต้น ซึ่งสามารถบอกได้ 4 สาเหตุ คือ ถูกของแข็งไม่มีคม ถูกของแข็งมีคม ถูกความร้อน และถูกอาวุธปืน

ในกรณีการเสียชีวิตด้วยอาวุธปืน จะเกิดเขม่าปืนซึ่งอาจจะไปติดที่บริเวณมือของผู้ที่ลั่นไกด้วย และสามารถตรวจสอบเขม่าปืนที่มือของผู้ต้องสงสัยได้โดยตรวจพิสูจน์หาชนิดและ ปริมาณของธาตุตะกั่ว แบเรียม และพลวง ที่ใช้เป็นส่วนประกอบในดินปืน ซึ่งช่วยให้ทราบได้ว่าเป็นกระสุนปืนชนิดใด และเขม่าดินปืนบางส่วน อาจติดอยู่ที่ร่างกายของผู้ถูกยิงได้ด้วย ซึ่งขนาดและการกระจายของเขม่าดินปืนบนร่างกายของผู้ถูกยิงจะขึ้นอยู่กับระยะ ห่างจากปากลำกล้องปืน

การเก็บเขม่าดินปืนจากมือผู้ต้องสงสัยหรือจากบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ จะต้องเก็บในในเวลา 6 ชั่วโมงหลังจากยิงปืน ถ้าเก็บจากผู้เสียชีวิตแล้วจะต้องเก็บภายในเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง โดยสามารถเก็บได้ 2 วิธี คือ ใช้เครื่องอะตอมมิกแอบซอฟชั่น และเครื่องสแกนนิ่งอิเล็กตรอนไมโครสโคป

จากนั้นตรวจพิสูจน์เขม่าดินปืนด้วยชุดน้ำยาจีเอสพีอาร์ (Gun Shot Powder Residue Test Kit) สามารถนำไปใช้ตรวจพิสูจน์เบื้องต้นในสถานที่เกิดเหตุหรือในสถานที่ที่ควบคุม ตัวผู้ต้องสงสัยได้ โดยน้ำยาดังกล่าวจะตรวจหาสารกลุ่มไนไตรที่มาจากการยิงปืน และสังเกตการเปลี่ยนแปลง หากปรากฏจุสีชมพู แสดงว่าพบเขม่าดินปืน

นอกจากนั้น รอยกระสุนปืนยังบอกได้ถึงชนิดและขนาดของกระสุน ถูกยิงมาจากปืนชนิดใด ขนาดใด จากปืนอย่างน้อยกี่กระบอก รูรอยไหนเป็นรูรอยถูกยิงเข้าหรือเป็นรอยทะลุออก รวมถึงลักษณะและทิศทางการยิง ส่วนปลอกกระสุนปืนหรือหัวกระสุนปืนที่พบในที่เกิดเหตุก็สามารถบอกได้ด้วย เช่นกันว่าถูกยิงมาจากปืนกระบอกใด

จากหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ประกอบกับคำให้การของผู้ต้องสงสัย ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเข้าใกล้ผู้ร้ายตัวจริงได้มากเข้าไปทุกที ถ้าน้องๆ คนใดอยากสัมผัสการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ในด้านกระบวนการทางยุติธรรมหรือไข ปริศนาคดีฆาตกรรม สามารถมาทดลองเป็นนักนิติวิทยาศาสตร์ได้ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งชาติ ประจำปี 2553 ตั้งแต่วันที่ 7-22 ส.ค.53 เวลา 09.00-20.00 น. หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.nsm.or.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น