วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ย้อน 5 อันดับ "น้ำมันรั่ว" ครั้งใหญ่ของโลก

ย้อน 5 อันดับ "น้ำมันรั่ว" ครั้งใหญ่ของโลก
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 9 สิงหาคม 2556 18:16 น.   


ความต้องการน้ำมันดิบมาใช้ เป็นเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้เกิดการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นมาใช้เป็นจำนวนมากขึ้น และแน่นอนว่า แม้จะเป็นเทคโนโลยีที่ดีขนาดไหนในการบริหารจัดการแหล่งน้ำมันต่างๆ แต่ความเกิดความผิดพลาดก็มีให้เห็นอยู่เนืองๆ
หากย้อนดูประวัติศาสตร์การรั่วของน้ำมันดิบทั่วโลกผ่านแผนที่ด้าน แล้วก็ถือว่าอุบัติเหตุเหล่านี้มีบ่อยครั้ง และกินพื้นที่ความเสียหายไม่น้อยเลย (จากจุดสีดำ) ส่วนจุดสีแดงคือพื้นที่การเกิดเหตุล่าสุดที่ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมราย รอบอย่างมีนัยสำคัญ 
    
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ประมวลเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่รุนแรงสุดใน ประวัติศาสตร์การนำน้ำมันดิบมาใช้งานของมนุษย์ใน 5 อันดับ โดยเรียงจากปริมาณการรั่วไหลของน้ำมัน ดังนี้
1. สงครามอ่าว
เมื่อไหร่ : 23 มกราคม 1991    
ที่ไหน : อ่าวเปอร์เชีย คูเวต
ปริมาณการรั่ว : 136 - 205 ล้านตัน / 1-1.5 พันล้านบาร์เรลส์
มูลค่าความเสียหาย : 540 ล้านเหรียญสหรัฐฯ    
                                                             
สถานการณ์ :
เมื่อกองทัพอิรักที่กำลังจะพ่ายแพ้ ได้ทิ้งน้ำมันดิบของคูเวตลงในอ่าวเปอร์เซีย เพื่อสกัดไม่ให้นาวิกโยธินสหรัฐฯ ยกพลขึ้นบกมาปะทะได้ พร้อมทั้งเผาบ่อน้ำมันอีก 600 บ่อ ทำให้น้ำมันดิบกว่า 900 ล้านลิตรที่ไหลลงทะเล ส่งผลให้ผืนน้ำแถวนั้นมีน้ำมันหนา 4 นิ้ว ลอยกระจายเต็มชายฝั่ง กินพื้นที่ 400 ตารางกิโลเมตรใหญ่กว่าเกาะฮาวาย นับได้ว่าเป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์

เคลียร์ยังไง :      
กองกำลังทหารพันธมิตรได้จัดการปิดผนึกบ่อน้ำมันที่ถูกเปิดหลายแห่ง ด้วยระเบิดสมาร์ทบอมบ์ (smart bombs) แต่กว่าจะกู้ตรงจุดเหล่านี้ได้ต้องรอจนกระทั่งหลังสงคราม
ขณะเดียวกันที่ชายฝั่งทะเลก็มีการทุ่นน้ำมัน (boom) แนวสีส้มเพื่อซับน้ำมันยาว 38 กิโลเมตร พร้อมด้วยเครื่องเก็บคราบน้ำมัน (skimmer) ดูดน้ำมันออกจากน้ำ ซึ่งติดตั้งไว้ 21 เครื่อง และใช้รถบรรทุกขนน้ำมันที่ดูดขึ้นมาได้ประมาณ 200 ล้านลิตร
ความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งใหญ่ของโลก แต่รายงานของคณะกรรมาธิการสมุทรศาสตร์ระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Oceanographic Commission, IOC) ยูเนสโก ได้ระบุถึงความเสียหายของระบบนิเวศน์ปะการัง และการประมงท้องถิ่นว่า หากเป็นความเสียหายระยะยาวนั้นไม่ได้มากมายนัก

อีกทั้ง รายงานยังสรุปว่า น้ำมันครึ่งหนึ่งที่รั่วลงทะเลนั้นระเหยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และ 1 ใน 8 คือปริมาณที่ดูดขึ้นมาได้ ส่วนอีก 1 ใน 4 ไหลไปตามชายฝั่งโดยเฉพาะชายฝั่งของซาอุดิอาระเบีย
      
อย่างไรก็ดี รายงานการวิจัยยุคหลังปี 2000 ก็เริ่มมีข้อมูลที่ขัดแย้ง เพราะชายฝั่งหลายพื้นที่ที่ไม่ได้มีการกำจัดคราบน้ำมัน แม้จะผ่านมานับสิบปีแล้ว แต่มลพิษเหล่านั้นได้ทำลายระบบนิเวศน์อย่างมีนัยสำคัญ

2. เลควิว กัชเชอร์ (Lakeview Gusher)
เมื่อไหร่ : 14 มีนาคม 1910
ที่ไหน : เคิร์น เคาน์ตี มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา (Kern County, California)
ปริมาณการรั่ว : 120 ล้านตัน / 9 ล้านบาร์เรล
มูลค่าความเสียหาย : ยังไม่เคยประเมินค่า

สถานการณ์ :
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ 100 กว่าปีก่อน นับเป็นอุบัติเหตุน้ำมันรั่วครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ เมื่อบริษัทเลควิวออยคอมพานี ได้ขุดเจาะหลุมที่ 1 เพราะเชื่อว่ามีเพียงก๊าซธรรมชาติ พร้อมๆ กับเทคโนโลยีการขุดเจาะสำรวจสมัยนั้นที่ไม่มีมาตรการป้องกันหากกรณีการ ระเบิดพุ่งออกมาที่ปากหลุม
ที่หลุมดังกล่าวมีน้ำมันดิบอยู่ด้วย และเมื่อเจาะไปถึงก็ทำให้น้ำมันดิบพุ่งออกมาพร้อมกับการระเบิดที่ปากบ่อ ทำให้เกิดน้ำพุน้ำมันพุ่งออกมาแบบหยุดไม่ได้ มีน้ำมันดิบประมาณ 18,000 บาร์เรลต่อวันพุ่งออกมาเป็นเวลายาวนานถึง 18 เดือน

เคลียร์ยังไง :
ตั้งแต่วันแรกที่น้ำพุน้ำมันดิบพุ่งออกมา เจ้าหน้าที่ได้จัดกระสอบทรายก่อเป็นเขื่อนกั้นบริเวณไว้ พร้อมด้วยท่อยาว 4 กิโลเมตรรองรับเมื่อน้ำมันดิบล้นจากเขื่อน ให้ไหลเข้าสู่ถังเก็บน้ำมัน จึงทำให้สามารถเก็บน้ำมันที่พุ่งออกมาได้ประมาณ 5 ล้านบาร์เรล ตลอดระยะเวลา 544 วันที่เกิดเหตุ ส่วนน้ำมันที่เหลืออีกประมาณ 4 ล้านบาร์เรลก็ระเหยและซึมลงดินไป

3. ดีปวอเทอร์ ฮอไรซอน (Deep Water Horizon)     
เมื่อไหร่ : 22 เมษายน 2010
ที่ไหน : อ่าวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา (Gulf of Mexico)
ปริมาณการรั่ว : 470,770 ตัน / 4.1-4.9 ล้านบาร์เรลส์
มูลค่าความเสียหาย : อาจจะมากกว่า 10 ล้านล้านเหรียญหสรัฐฯ      

สถานการณ์ :
แท่นขุดเจาะอันทันสมัยที่ใช้หุ่นยนต์บังคับบนผิวน้ำของดีปวอเทอร์ ฮอไรซอน อันเป็นสัมปทานของบริติชปีโตรเลียม (บีพี) เกิดระเบิดขึ้น เพราะแก๊สและเชื้อเพลิงรั่วเข้าไปในท่อ ขณะกำลังขุดเจาะน้ำมันดิบจากระดับความลึก 1.5 กิโลเมตร ทำให้เพลิงลุกไหม้ ท่อแตก และแท่นขุดเจาะจมลงทะเลหลังจากระเบิด 36 ชั่วโมง โดยมีคนงานเสียชีวิต 11 ราย และบาดเจ็บ 17 คน พร้อมๆ กับน้ำมันดิบที่ทะลักออกมา
ประมาณการว่าน้ำมันดิบรั่วไหลจากช่องเปิดใต้ทะเลก้นอ่าวเม็กซิโกเป็น เวลานาน 87 วัน กินพื้นที่ปนเปื้อน 6,500 - 24,000 ตารางกิโลเมตร น้ำมันบางจุดหนาถึง 91 เมตร พร้อมกับรายงานว่าสัตว์ 8,000 ตัว ตายภายใน 6 เดือนหลังจากเกิดเหตุการณ์ นับเป็นการรั่วไหลนอกชายฝั่งครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา

เคลียร์ยังไง :
บีพีเลือกใช้วิธีการอัดโคลนลงไปอุดรอยรั่วของท่อน้ำมันแต่ไม่สำเร็จ จึงตัดท่อน้ำมันที่มีรอยแตกออกไป แล้วนำฝาครอบปิด พร้อมทั้งขนถ่ายน้ำมันที่รั่วไหวออกมาสู่ผิวน้ำ
ระหว่างแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ในส่วนของน้ำมันที่ลอยอยู่ในทะเล ได้มีการนำเรือติดตั้งเครื่องเก็บคราบน้ำมันมากกว่า 2,000 เครื่อง และวางแนวทุ่นซับน้ำมัน แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เมื่อคลื่นลมแรงทำให้น้ำมันลอดผ่านทุ่นไปได้ พร้อมทั้งใช้สารเคมีโปรยไปตามบริเวณคราบน้ำมัน ทว่า 2 ปีหลังจากโรยสารเคมี มีผลการศึกษาพบว่าสารคอเรกซิต (Corexit) ที่ใช้นี้เพิ่มความเป็นพิษในน้ำมันมากถึง 52 เท่า
ทั้งนี้ น้ำมันที่รั่วออกมา 5% ถูกเผาไหม้ที่ผิวน้ำ และอีก 3% กรองออกมาได้ อีกทั้งยังมีพายุเฮอริเคนในอ่าวเม็กซิโกก็เป็นอุปสรรคสำคัญ ทำให้เรือดักจับน้ำมันต้องหลบพายุอยู่เป็นสัปดาห์ทำให้การแก้ปัญหาล่าช้าออก
ไปอีก
อย่างไรก็ดี เมื่ออุดรอยรั่วได้แล้ว บีพีก็จัดการกำจัดคราบน้ำมันตามชายฝั่ง ด้วยการร่อนทราย เอาคราบน้ำมันที่จับเป็นก้อนออก ในช่วงที่ต้องช่วยกันอุดรอยรั่ว ขจัดคราบน้ำมัน บางวันต้องใช้คนงานมากถึง 47,000 คน

4. บ่อน้ำมัน อิท็อค-วัน (Ixtoc-1 Oil Well)
เมื่อไหร่ : 3 มิถุนายน 1979
ที่ไหน : อ่าวแคมเปเช เม็กซิโก (Bay of Campeche, Mexico)
ปริมาณการรั่ว : 470,000 ตัน / 3.5 ล้านบาร์เรลส์
มูลค่าความเสียหาย : 283.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ


สถานการณ์ :
บ่อน้ำมันที่เกิดเหตุนี้ เป็นของเปเม็กซ์ (Pemex : Petróleos Mexicanos) บริษัทน้ำมันของรัฐบาลเม็กซิโก เหตุเกิดเมื่อมีการเจาะลึกลงไป 3 กิโลเมตร ด้วยการอัดแรงดันจากน้ำโคลน จนภายในบ่อได้รับความเสียหาย เมื่อทางเปเม็กซ์ตัดสินใจแก้ปัญหา ด้วยการดึงท่อเจาะน้ำมันออก ทำให้เกิดควันและก๊าซพุ่งตามขึ้นมา พร้อมด้วยน้ำมันดิบ
กว่าจะอุดรูรั่วได้ต้องใช้เวลานานถึง10 เดือน ระหว่างนั้นน้ำมันดิบประมาณ 520 ล้านลิตรได้พุ่งขึ้นมาไม่หยุด ทำให้อ่าวเม็กซิโกปนเปื้อนไปด้วยคราบน้ำมัน กินพื้นที่ 2,800 ตารางกิโลเมตร ยาวขนานไปตามพื้นที่แนวชายฝั่ง 261 กิโลเมตร

เคลียร์ยังไง :
เริ่มจากแก้ปัญหาที่ต้นตอ จึงมีความพยายามที่จะชะลอมกระแสน้ำมันดิบที่พุ่งออกมาจากบ่อที่เสียหายด้วย การเติมโคลนลงไปในบ่อดังกล่าว และต่อมาก็ใส่ลูกบอลเหล็กและตะกั่วตามลงไป
ขณะเดียวกันเปเม็กซ์ก็เปิดเผยว่า น้ำม้นดิบกว่าครึ่งถูกเผาไหม้เมื่อพุ่งออกมาที่ปากบ่อ และ 1 ใน 3 ก็ระเหยไปในอากาศ อีกทั้งยังได้จ้างบริษัทแห่งหนึ่งโปรยสารเคมีขจัดคราบน้ำมันเหนือพื้นที่ เกิดเหตุกว่า 2,800 ตารางกิโลเมตร สารเคมีดังกล่าวทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยละลายน้ำมันให้เข้ากับน้ำ จึงทำให้คราบน้ำมันดิบเข้าสู่ชายฝั่งน้อยลง
ขณะเดียวกัน น้ำมันดิบก็ลอยไปไกลถึงชายฝั่งเท็กซัส ทางเท็กซัสก็ขนทรายชายฝั่งที่ปนเปื้อนออกไป พร้อมทั้งติดตั้งสกิมเมอร์ดูดน้ำมันออกจากน้ำมาที่ชายฝั่งเพื่อจัดเก็บ และบูมเมอร์ดักน้ำมันไม่ให้ไหลเข้าชายฝั่ง

5.แอตแลนติก เอ็มเพรส (Atlantic Empress)
เมื่อไหร่ : 19 ก.ค. 1979
ที่ไหน : ทะเลแคริบเบียน สาธารณรัฐตรินิแดดและโตเบโก (Trinidad and Tobago, West Indies)
ปริมาณการรั่ว : 520 ล้านลิตร / 3 ล้านบาร์เรลส์
มูลค่าความเสียหาย : 187 ล้านเหรียญสหรัฐฯ


สถานการณ์ :
เหตุเกิดเมื่อเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ทั้ง 2 ลำชนกัน ท่ามกลางพายุฝนรุนแรง ในทะเลแคริบเบียน ชายฝั่งโตเบโก นับได้ว่าเป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วจากเรือล่มครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
 พายุฝนกระหน่ำในช่วงค่ำ ทัศนวิสัยต่ำ ทำให้ทั้งเรือแอตแลนติก เอ็มเพรส กับ เรือเอเจียน กัปตัน (Aegean Captain) ที่กำลังเดินทางสวนกัน เพิ่งจะมองเห็นกันในระยะห่างเพียง 500 เมตร ทำให้หักหลบไม่ทัน และเมื่อเรือทั้ง 2 เข้าปะทะกัน ก็เกิดไฟลุกไหม้ขนาดใหญ่ ลูกเรือต่างสละเรือ ซึ่งลูกเรือแอตแลนติกสูญหายไประหว่างเหตุการณ์ 26 คน และลูกเรือเอเจียนเสียชีวิตบนเรือ 1 คน
วันต่อมาเจ้าหน้าที่ชายฝั่งจากตรินิแดดก็สามารถดับไฟเรือเอเจียนได้ สำเร็จและนำเรือเข้าสู่ประเทศคูราเซา (Curaçao) ซึ่งเป็นต้นทางที่ขนน้ำมันมา ขณะที่เรือแอตแลนติกลอยออกไปไกลจากฝั่ง พร้อมกับไฟที่ยังไม่สามารถดับได้ และน้ำมันดิบเริ่มรั่วออกมาเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งผ่านไป 1 สัปดาห์ เกิดระเบิดขึ้นบนเรือ น้ำมันรั่วเพิ่มออกมาอย่างรวดเร็ว และในที่สุดเรือก็จมลงในวันที่ 3 ส.ค. (กินเวลา 16 วัน)

เคลียร์ยังไง :
แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นเหตุน้ำมันรั่วใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก แต่ก็ไม่ได้มีการจัดการมากมายนัก เพราะเป็นน้ำมันดิบที่มีความหนาแน่นต่ำ (light crude) และเกิดรั่วในบริเวณทะเลน้ำอุ่น ซึ่งจะช่วยให้ระเหยสู่อากาศและตกลงสู่ก้นทะเลได้ไวขึ้น อีกทั้งส่วนหนึ่งก็ถูกเผาไหม้ระหว่างที่เรือปะทะกัน ดังนั้นความพยายามแรกก็การดับไฟ และตามมาด้วยการใช้สารเคมี
ทั้งนี้ เหตุน้ำมันที่รั่วมาจากเรือแอตแลนติกเอ็มเพรสที่ลอยออกไปในทะเล ทำให้มลพิษตามแนวชายฝั่งจึงมีเพียงเล็กน้อย เท่าที่ผู้อยู่อาศัยแถบนั้นสังเกตเห็น แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีรายงานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจาก เหตุการณ์ดังกล่าว

ทุ่นซับน้ำมัน หรือ บูม ที่ถูกนำมาใช้งานเพื่อกั้นการกระจายของคราบน้ำมัน ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับพื้นที่ที่ไม่มีคลื่นลมแรง เหตุการณ์ดีปวอลเทอร์ มีบางส่วนใช้อุปกรณ์นี้ได้      

การโปรยสารเคมีเพื่อ ทำให้น้ำมันดิบสลายขนาดเล็กลงและตกลงก้นทะเล เป็นหนทางที่ใช้กันบ่อย แต่มักจะส่งผลกระทบระยะยาว เพราะการตกค้างของคราบน้ำมัน และความเป็นพิษที่เกิดขึ้นตามมา      

ภาพจากสถานีอวกาศ นานาชาติ บันทึกโดยนาซา เมื่อถ่ายลงมาบริเวณอ่าวเม็กซิโก หลังเกิดเหตุน้ำมันรั่วของพีบี กินพื้นที่บริเวณกว้าง แม้จะอุดรอยรั่วของน้ำมันได้แล้ว แต่ผลกระทบและการเรียกร้องค่าเสียหายยังไม่จบสิ้นกันง่ายๆ

ยังมีเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งสำคัญอีกจำนวนมาก แต่การรั่วของแท่นขุดเจาะน้ำมัน หรือ การระเบิดนั้น หากเกิดบนทะเลจะส่งผลกระทบเสียหายมากกว่าบนพื้นดิน เพราะน้ำจะนำพาคราบน้ำมันเหล่านี้ไปไกลเกินกว่าจะคาดเดาได้
      
ในหลายๆ กรณีนี้แม้เหตุการณ์จะคลี่คลาย สามารถหยุดยั้งการรั้ว หรือ กำจัดทำความสะอาดคราบน้ำมันดิบได้แล้ว แต่ยังต้องมีการติดตามผลกระทบระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อมที่เราอาจจะคาดไม่ถึง