วันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2554

รถบ้าน "วิกรม กรมดิษฐ์ "

เปิดตัว "มอเตอร์โฮม" รถบ้าน "วิกรม กรมดิษฐ์ "
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 29 มีนาคม 2554 08:48 น.
ข่าวในประเทศ-เวทีมอเตอร์โชว์ 2011 สร้างสีสันเปิดตัวรถมอเตอร์โฮม 3 คันที่ประกอบขึ้นเพื่อใช้เดินทางการถ่ายทำสารคดีชุด "เบิกฟ้าท้าโลก" เพื่อตามหารากวัฒนธรรมของประเทศลุ่มน้ำโขง โดยมีมูลค่ารวมกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งไฮไลต์อยู่ที่รถขบวน (Leader Bus) ใช้เป็นสถานที่ทำงานและห้องนอนของ วิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะที่ร่วมเดินทางไปด้วย


รถขบวน (Leader Bus)
การถ่ายทำสารคดีชุดเบิกฟ้าท้าโลก ตามหารากวัฒนธรรมของประเทศลุ่มน้ำโขงตั้งแต่ ไทย ลาว เวียดนาม จีน และพม่า รวมระยะเวลาประมาณ 4 เดือน โดยการเดินทางใช้รถมอเตอร์โฮมจำนวน 3 คัน ซึ่งทั้งหมดเป็นรถจาก HINO ประกอบในประเทศไทย ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 212 แรงม้า ระบบหัวฉีดแบบคอมมอนเรล ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ พร้อมระบบเผาไหม้ แบบไดเรค อินเจคชั่น (Direct Injection) ทุกคันเป็นแบบ 2 เพลา เนื่องจากต้องการกำลังในการขับเคลื่อนสูง แต่ไม่ต้องการความเร็วมาก

แม้จะเป็นรถที่ประกอบจากแหล่งเดียวกัน แต่ตัวรถทั้ง 3 คันมีจุดประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ทั้งยังถูกออกแบบให้ทุกตารางนิ้วสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดแบบมัลติเพอร์โพส (Multipurpose) โดยรถขบวน (Leader Bus) เป็นรถขนาดสิบล้อ มูลค่า 7 ล้านบาท ใช้เป็นสถานที่ทำงานและห้องนอนของวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะที่ร่วมเดินทางไปด้วย มีที่ประชุมประมาณ 7 ที่นั่ง พร้อมห้องนอนของแขก ส่วนคันที่ 2 คือ รถ Office (Office Bus) รถขนาดสิบล้อ มูลค่า 7 ล้านบาท ใช้เป็นที่ทำงานของพนักงาน, ห้องประชุมใหญ่ 7 ที่นั่ง, ห้องครัว, ห้องรับประทานอาหาร, ห้องนอนของพ่อครัวและคนขับรถ และคันที่ 3 คือ รถพนักงาน (Crew Bus) รถขนาดหกล้อ ราคา 6 ล้านบาท ใช้เป็นที่พักผ่อน, ห้องนอน, ห้องทำงานของพนักงาน 7 คน และห้องพยาบาล

รถทุกคันออกแบบโครงสร้างภายนอกโดยบริษัท พานทอง ส่วนการเพิ่มเติมอุปกรณ์และตกแต่งภายในโดย บริษัท Motor Home โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น Koeji Matsuda อายุ 65 ปี เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท Vantec ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตและขายรถ Camping Car มากเป็นอันดับ 1 ในประเทศญี่ปุ่น คิดเป็น 60% ของตลาดรถบ้าน มาออกแบบและติดตั้งให้ด้วยตัวเอง

ภายในพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน อาทิ ห้องน้ำ ประกอบด้วยห้องอาบน้ำ อ่างล้างมือ และโถส้วมซึ่งเป็นระบบเผาไหม้ของเสีย เพื่อให้สะดวกแก่การทำความสะอาด, แหล่งกำเนิดไฟฟ้า มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 8.5 KW ใช้น้ำมันดีเซล, เครื่องซักผ้า มี 1 เครื่อง ขนาด 20 กิโลกรัม, ห้องครัวทำจากสแตนเลสทั้งหมด สามารถทำอาหารเลี้ยงแขกได้ประมาณ 20-30 คน ประกอบด้วย เตาแก๊ส 2 หัว เครื่องไมโครเวฟ 1 เครื่อง ตู้แช่แข็งสำหรับแช่เนื้อและตู้เย็น 1 ตู้, ความบันเทิงในรถ ทุกห้องมีวิทยุ Sony ทั้งหมดพร้อมลำโพง ในพื้นที่ส่วนกลางของรถแต่ละคันมี TV LCD และ DVD

ด้านความปลอดภัยภายในรถทุกคัน เนื่องจากเครื่องอำนวยความสะดวกบนรถทั้งหมดใช้ระบบไฟฟ้า รวมถึงการทำความเย็นภายในรถ ในการติดตั้งระบบไฟฟ้าทั้งหมด ใช้ระบบ Breaker และ Fuse เพื่อป้องกันการใช้ไฟเกินจากที่กำหนด และมีถังดับเพลิงภายในในกรณีเกิดไฟไหม้ ขณะที่ภายนอกรถใช้ระบบกล้องจับวัตถุเคลื่อนไหว และบันทึกใน Computer และมีสัญญาณเตือนเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าใกล้รถ

ทั้งนี้ ในวันอังคารที่ 29 มีนาคม 2554 จะเป็นการปล่อยขบวน "คาราวานท่องลุ่มน้ำโขง" จากอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สู่สาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว เป็นจุดหมายแรกของการเดินทาง



วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2554

โซลาร์ฟาร์ม

เปิด "โซลาร์ฟาร์ม" โคราช ไฟฟ้าแสงอาทิตย์ใหญ่สุดอาเซียน - จ่อผุด 34 แห่งอีสาน 2.4 หมื่นล. โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 20 มีนาคม 2554 15:21 น.

“โซล่าฟาร์ม โคราช 1” ต.ดอนชมพู อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่สุดของไทยและใหญ่สุดในอา เซียน ของ บริษัท โซล่า เพาเวอร์ จำกัด วันนี้ ( 20 มี.ค.)

ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - เปิด ตัว “โซลาร์ฟาร์ม โคราช 1” โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่สุดในอาเซียน ต.ดอนชมพู อ.โนนสูง ระบุทุ่มทุนสร้าง 700 ล้าน ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ร่วม 3 หมื่นแผง บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ กำลังผลิต 6 เมกะวัตต์ จำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ เม.ย. โกยรายได้วันละกว่า 4.3 แสน เผยแผนลงทุน 2.4 หมื่นล้าน ผุดโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์พลังงานสะอาดรวม 34 แห่งใน 9 จว.ภาคอีสาน ตั้งเป้าดำเนินการเสร็จในปี 2556

วันนี้ (20 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านดอนชมพู ต.ดอนชมพู อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา บริษัทโซล่า เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รายใหญ่ของประเทศไทย ได้ทำพิธีเปิดตัวโซลาร์ฟาร์มแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างเป็นทาง การ โดยใช้พื้นที่กว่า 100 ไร่ ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 29,160 แผง มีกำลังผลิตไฟฟ้า 6 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะนี้

น.ส.วันดี กุญชรยาคง กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซล่า เพาเวอร์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทโซล่า เพาเวอร์ มีแผนลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ภาคอีสาน 34 โครงการ รวมกำลังผลิต 205 เมกะวัตต์ ด้วยเงินลงทุนทั้งสิ้น 24,000 ล้านบาท โดยจะก่อสร้างให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2556 ซึ่งโครงการทั้งหมดมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กับการไฟฟ้าส่วน ภูมิภาค (กฟภ.) โดยเน้นลงทุนในภาคอีสาน ซึ่งมีความเข้มข้นของรังสีจากแสงอาทิตย์สูง

ได้แก่ 1. จ.นครราชสีมา 9 แห่ง กำลังผลิต 54 เมกะวัตต์ เงินลงทุนประมาณ 6,300 ล้านบาท ,
2.จ.ขอนแก่น 10 แห่ง กำลังผลิต 60 เมกะวัตต์ เงินลงทุน7,000 ล้านบาท ,
3.จ.บุรีรัมย์ 3 แห่ง กำลังผลิต 18 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 2,100 ล้านบาท
4.จ.สุรินทร์ 3 แห่ง กำลังผลิต 18 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 2,100 ล้านบาท ,
5. จ.นครพนม 3 แห่ง กำลังผลิต 18 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 2,100 ล้านบาท ,
6. จ.สกลนคร 2 แห่ง กำลังผลิต 12 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 1,400 ล้านบาท ,
7. จ.ร้อยเอ็ด 2 แห่ง กำลังผลิต 12 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 1,400 ล้านบาท ,
8. จ.หนองคาย 1 แห่ง กำลังผลิต 6 เมกะวัตต์ และ
9. จ.อุดรธานี 1 แห่ง กำลังผลิต 6 เมกะวัตต์ เงินลงทุนแห่งละ 700 ล้านบาท

สำหรับโซลาร์ฟาร์มโคราช 1 (ต.ดอนชมพู อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ) แห่งนี้ ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เชิงพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ไทย และใหญ่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ภายใต้การบริหารงาน ของ บริษัท โซล่า เพาเวอร์ (โคราช 1 ) จำกัด มีผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สำคัญ เช่น มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม , บริษัท ไทยฟ้า เพาเวอร์ จำกัด เป็นต้น ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 700 ล้านบาท ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว และเริ่มจ่ายไฟเข้าระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่เดือนเม.ย.2553 ที่ผ่านมา สร้างรายได้วันละ 4.3 แสนบาท

นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังได้ทำการพัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์มแห่งที่ 2 ภายใต้บริษัท โซล่า เพาเวอร์ (สกลนคร 1 ) ที่ จ.สกลนคร สามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้แล้วตั้งแต่เดือนก.พ. 2554 ที่ผ่านมา และ แห่งที่ 3 ภายใต้ บริษัทโซล่า เพาเวอร์ ( นครพนม 1 ) จำกัด ที่ จ.นครพนม ซึ่งจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าได้ภายในเดือน มี.ค.2554 นี้

“การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานที่สะอาด ปราศจากมลิษที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเชื้อเพลิง ค่าบำรุงรักษาน้อย และยังสามารถพัฒนาคาร์บอนเครดิต เพื่อช่วยลดสภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย” น.ส.วันดี กล่าว



น.ส.วันดี กุญชรยาคง กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซล่า เพาเวอร์ จำกัด